Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

การระบายอากาศของตู้เก็บสารเคมี



การระบายอากาศของตู้เก็บสารเคมี

ตู้เก็บสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นตู้เก็บสารไวไฟ (สีเหลือง) สารกัดกร่อน (สีฟ้า/น้ำเงิน) หรือยาฆ่าแมลง/ยาพิษ (สีขาว) ถ้าทำด้วยวัสดุที่เป็นเหล็กเคลือบสีอีพอกซี จะมีช่องที่สามารถเปิดเพื่อต่อท่อระบายอากาศได้ โดยช่องด้านหนึ่งจะอยู่ค่อนมาทางด้านบน อีกด้านจะอยู่ทางด้านล่าง ช่องนี้ทั้งสองช่องได้ถูกปิดไว้อย่างแน่นหนาเพื่อกันไฟไม่ให้เข้าไปในตู้ได้ ตามเวลาที่ได้ออกแบบไว้ การระบายอากาศของตู้เก็บสารไวไฟจะไม่จำเป็น และหน่วยงานของรัฐจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาก็ไม่แนะนำให้มีการต่อท่อ (vented) ผู้ผลิตจัดเตรียมจุดต่อนี้ไว้เนื่องจากผู้ใช้งานแต่ละแห่งมักมีข้อกำหนดและความจำเป็นที่ไม่เหมือนกัน

NFPA 30 Flammable and Combustible Liquids Code Handbook ได้ระบุว่า ตู้เก็บสารเคมีไวไฟไม่จำเป็นต้องต่อท่อระบายอากาศ เนื่องจากตัวตู้เหล่านี้ ได้ถูกออกแบบไว้ เพื่อป้องกันสารไวไฟที่อยู่ในตู้ ให้พ้นจากเปลวไฟที่อาจเกิดขึ้นได้ภายในห้องปฏิบัติการที่ตู้นั้นตั้งอยู่ การทดสอบความทนไฟของตู้ เพื่อให้เป็นมาตรฐาน จะทดสอบในขณะที่ไม่ได้เปิดช่องดังกล่าว การเปิดช่องเพื่อต่อท่อระบายอากาศจะทำให้การทนต่อความร้อนจากภายนอกสูญเสียไปได้ ดังนั้นถ้าเกิดไฟไหม้ขึ้นภายในห้องปฏิบัติการ ตู้เก็บสารไวไฟที่มีการต่อท่อระบายอากาศ จะไม่สามารถป้องกันเชื้อเพลิงที่อยู่ภายในตู้ จากการเกิดไฟไหม้ได้ดีตามมาตรฐานการผลิตอีกต่อไป ถ้าการต่อท่อดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานการติดตั้งที่ถูกต้อง ดังนั้น NFPA 30 จึงไม่แนะนำให้มีการต่อท่อระบายอากาศจากตู้เก็บสารเคมีไวไฟ

หากต้องมีการต่อท่อไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย การต่อท่อระบายอากาศต้องทำให้เป็นไปตามมาตรฐาน ต่อท่ออย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ทำให้การป้องกันไฟสูญเสียไป ตัวอย่างเช่น ติดตั้ง fire arrestor หรือ fire damper ที่ไวต่อความร้อนเพื่อกันเปลวไฟไม่ให้ผ่านเข้าไปในตู้ ท่อระบายอากาศต้องทำจากวัสดุทนความร้อน เช่น stainless steel หรือมีการทำฉนวนหุ้มระบบท่อเพื่อไม่ให้อุณหภูมิในตู้สูงขึ้นไปจนเกินที่ระบุไว้ได้ ถ้ามีการระบายอากาศต้องดูดออกจากด้านล่างของตู้และมีการดึงอากาศเข้าจากด้านบน และพัดลมดูดอากาศ ต้องเป็นชนิดและขนาดที่เหมาะสม โดยมีการติดตั้งเป็นไปตามข้อกำหนดของ NFPA การต่อท่อรวมกันหลายๆ ตู้เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

อย่าต่อท่อระบายอากาศตู้เก็บสารเคมีไวไฟ (ถ้าไม่จำเป็น)

ถ้าสารเคมีที่เก็บอยู่ในตู้มีไอระเหยออกมามาก ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการต่อท่อ ก่อนที่จะต่อท่อควรพิจารณาทำสิ่งต่อไปนี้ก่อน
1. วางตู้ในสถานที่แห้งและเย็น ไม่โดนแสงแดดโดยตรง ห่างจากจุดติดไฟ เพราะอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้มีไอพิษเกิดขึ้นได้
2. ต้องมีการระบายอากาศในห้องที่ตู้นั้นตั้งอยู่ อย่างเพียงพอตลอดเวลา อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้น เนื่องมาจากระบบระบายอากาศถูกปิดตอนช่วงวันหยุดเป็นเวลานานๆ
3. จัดทำระบบตรวจสอบสารเคมีทั้งหมด รวมไปถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาระหว่างสารที่เข้ากันไม่ได้ อย่าเก็บสารเคมีโดยเรียงตามตัวอักษรอย่างเดียว เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาที่อันตรายขึ้นได้
4. เก็บสารเคมีในภาชนะที่ทนต่อสารนั้นๆ เพื่อจะได้ไม่เกิดการรั่วหรือเกิดความเสียหายขึ้นได้ ตรวจสอบกับ SDS หรือบริษัทผู้ผลิตเพื่อขอคำแนะนำ ต้องมีการตรวจสอบสภาพภาชนะอยู่ตลอดเวลา เพื่อหาร่องรอยความเสียหายหรือการเสื่อมอายุ
5. ปิดฝาให้แน่น และไม่มีสารหกเลอะบริเวณภายนอกของภาชนะ ฝาเกลียวของภาชนะเก็บสารควรมีการตรวจสอบ หมุนให้แน่น อยู่เป็นประจำ เพราะมันจะค่อยๆ หลวมมากขึ้นเรื่อยๆ
6. ตรวจสอบภายในตู้เป็นประจำ อย่าให้มีสารหกเหลืออยู่ และต้องทำความสะอาดทันทีที่พบ
7. ตรวจสอบภายในตู้ และส่วนต่างๆ ที่เป็นโลหะโดยรอบเป็นประจำ มองหาการเกิดสนิม การสึกกร่อน หรือสิ่งที่แสดงว่า มีระดับไอของสารมากเกินไป และจำเป็นต้องใช้เครื่องมือในการระบายอากาศ
8. กำจัดสารเคมีที่หมดอายุ และอาจเกิดสารที่ไม่เสถียรขึ้นได้ เช่น สารที่สามารถเกิดเปอร์ออกไซด์ได้
9. ใส่ตัวดูดซับไอสารเคมีไปวางไว้ในตู้ เพื่อลดปริมาณไอที่ระคายเคืองลง

หวังว่าบทความนี้คงจะมีประโยชน์กับท่านบ้างไม่มากก็น้อย หากท่านเห็นว่าบทความนี้เกี่ยวข้องกับเพื่อนร่วมงานของท่านโปรดแบ่งปันให้ได้รับทราบข้อมูล เพื่อความปลอดภัยในหน่วยงานของท่านต่อไป ด้วยความปรารถนาดีจาก บริษัท นีโอแลบ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด