Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

‘หลอดกินได้’ ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกจากงานวิจัยสู่การสร้างรายได้



‘หลอดกินได้’ ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกจากงานวิจัยสู่การสร้างรายได้



หลอด ที่เราพบเห็นกันโดยทั่วไป ส่วนใหญ่ผลิตมาจากพลาสติกประเภทพอลิสไตรีน พอลิสไตรีน (Poly Stylene, PS) เป็นพลาสติกชนิดเทอร์โมพลาสติก คือ หลอมเป็นของเหลวได้ โดยที่อุณหภูมิห้องจะอยู่ในสถานะของแข็ง แต่จะหลอมละลายเมื่อทำให้ร้อน และแข็งตัวเมื่อเย็นลง พอลิสไตรีนแข็งที่บริสุทธิ์จะใส ไม่มีสี แต่สามารถทำเป็นสีต่าง ๆ ได้และยืดหยุ่นได้จำกัด

พอลิสไตรีนที่ใช้กันอยู่ทั่วไปส่วนใหญ่เป็นชนิดที่เรียกว่า Expanded Polystyrene (EPS) เป็นชนิดที่ได้จากการผสมพอลิสไตรีนร้อยละ 90-95 กับสารทำให้ขยายตัว (ที่ใช้กันมาก คือ เพนเทนหรือคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อก่อนใช้ CFC ซึ่งเป็นสารทำลายชั้นโอโซน) ร้อยละ 5-10 พลาสติกที่เป็นของแข็งถูกทำให้เป็นโฟมโดยการใช้ความร้อน (มักเป็นไอน้ำ) พอลิสไตรีนอีกชนิดหนึ่ง คือ Extruded Polystyrene (XPS) มีชื่อทางการค้าที่แพร่หลาย คือ Styrofoam เป็นชนิดที่มีการเติมอากาศไว้ในช่องว่างตามเนื้อโฟมทำให้มีค่าการนำความร้อนต่ำ ใช้ในงานก่อสร้าง และใช้เป็นฉนวนกันความร้อนในอาคาร และยังมีชนิดที่เป็นแผ่นเรียกว่า Polystyrene Paper Foam (PSP) ใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร เช่น กล่องหรือถาดใส่อาหาร

นอกจากหลอดที่ทำมาจากพลาสติกประเภทพอลิสไตรีนแล้ว ยังมีหลอดที่ทำมาจากพืชตามธรรมชาติ สามารถกินได้ ย่อยสลายเร็ว ซึ่งเป็นหลอดที่เกิดจากงานวิจัยของกลุ่มนักวิจัยอีสานได้คิดค้น หลอดกินได้ โดยหลอดกินได้นี้เป็นไอเดียของคุณสุรพร กัญจนานภานิช ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้นำไอเดียการแปรรูปพืชตามธรรมชาติและข้าวที่มีผลผลิตอยู่แล้วไปปรึกษากับหน่วยงานที่ส่งเสริมด้านงานวิจัยหลายแห่ง เพื่อที่จะทำหลอดที่สามารถใช้ทดแทนหลอดพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ และหลอดที่สามารถผลิตได้ไม่เพียงแค่สามารถย่อยสลายได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่หลอดที่ได้ยังสามารถรับประทานได้ โดยที่ไม่เป็นอันตราย เพราะทำมาจากพืชตามธรรมชาติ และที่สำคัญยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย

คุณสมบัติของหลอดที่กินได้ คือ สามารถแช่ในน้ำร้อนได้ 35 นาที และแช่ในน้ำเย็นและน้ำอุณหภูมิปกติได้ 6-12 ชั่วโมง โดยที่ยังคงรูปเหมือนเดิม และถ้าปล่อยไว้ให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ ใช้เวลาประมาณ 30 วัน หรือถ้าจะรับประทาน ต้องแช่น้ำ 3-5 นาที หลอดจะนิ่มและรับประทานได้ ซึ่งการใช้หลอดโดยปกติ คนทั่วไปใช้ไม่เกิน 10-15 นาที เลิกใช้และทิ้ง ดังนั้น หลอดกินได้ ซึ่งสามารถคงได้นานกว่านั้น จึงไม่ใช่ปัญหาในการใช้งาน แต่สิ่งที่ผู้บริโภคจะได้ คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อสุขภาพ ถ้ารับประทานเข้าไป ช่วยเกษตรกรให้ขายผลผลิตทางการเกษตรได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงเริ่มต้นได้ทดลอง โดยให้คนรอบข้างได้ทดลองใช้ทุกคนค่อนข้างพอใจ เพราะจะไม่นิ่มเหมือนหลอดกระดาษ และไม่มีกลิ่นสารเคมี แต่เป็นกลิ่นของพืชตามธรรมชาติ

ในปัจจุบันเราจะเห็นหลอด Polylactic Acid (PLA) ซึ่งเป็นหลอดพลาสติกชีวภาพที่มีส่วนผสมวัตถุดิบธรรมชาติ เช่นกัน ต่างกันตรงที่ PLA ต้องนำวัตถุดิบธรรมชาติเหล่านั้นไปผ่านกระบวนการหมัก ซึ่งในกระบวนการย่อยสลายทำได้ยากกว่า โดยถ้าถูกนำไปทิ้งในกองขยะและมีขยะอื่น ๆ ทับอยู่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ถ้าจะให้ย่อยสลายได้ต้องแยกออกมา ถึงจะย่อยสลายได้ ปัจจุบัน พลาสติกชีวภาพ PLA ได้รับความนิยมนำมาแทนพลาสติกกันมากในต่างประเทศ เพราะมีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับพลาสติก

นอกจาก พลาสติกชีวภาพ PLA ยังมีหลอดทางเลือกอื่นๆ ที่มาแทนพลาสติก เช่น หลอดกระดาษ ปัจจุบันถือว่าได้รับความนิยมมากในประเทศไทยและต่างประเทศ เพราะผู้ผลิตรายใหญ่จากประเทศจีน หันมาผลิตหลอดกระดาษออกขายจำนวนมาก แต่ปัญหาของหลอดกระดาษ คือ กลิ่นเหมือนสารเคมีที่มาจากกาวที่ใช้ เมื่อโดนน้ำยังไม่รู้ว่ากาวละลาย แล้วจะเป็นอันตรายผู้บริโภคหรือเปล่า และยังมีหลอดประเภทอื่น ๆ อย่างเช่น หลอดไม้ไผ่ หลอดผักบุ้ง เป็นต้น ซึ่งมีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน