Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

‘พลาสติกจากกระบองเพชร’ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม



‘พลาสติกจากกระบองเพชร’ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม




ในขณะที่ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาขยะพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ล่าสุดนักวิจัยจากเมืองกวาดาลาฮาลา ประเทศเม็กซิโก ผลิตพลาสติกจากกระบองเพชรได้สำเร็จ เป็นพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้เอง รับประทานได้ ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และธรรมชาติ คาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาการบริโภคไมโครพลาสติกได้

การวิจัยพลาสติกจากกระบองเพชร เกิดจากการตัดใบต้นกระบองเพชรพันธุ์ Prickly pear cactus ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีผลคล้ายลูกแพร์ ผลสามารถรับประทานได้ นำมาคั้นน้ำจนได้ของเหลวสีเขียว และนำไปผสมกับวัตถุดิบทางธรรมชาติอื่น ๆ ผ่านกระบวนการแปรรูป ผลปรากฏว่าน้ำกระบองเพชรนั้นได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน สามารถปรับแต่งสี เพิ่มความหนา ความยืดหยุ่นได้ตามความต้องการด้วย

ซานดรา ปาสโกเอ ออร์ติซ นักวิจัยของอูนิวา ผู้ค้นพบงานวิจัยนี้ เล่าว่า "ความคิดของฉัน คือ การผลิตพลาสติกที่มาจากธรรมชาติ และนำมันมาใช้แทนพลาสติกบางชนิดที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ความตั้งใจ คือ การผลิตวัสดุดังกล่าวมาใช้แทนพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง อย่างพวกช้อน ส้อม และถุง โดยวัสดุจากกระบองเพชรจะใช้เวลาย่อยสลายที่เร็วมาก ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน หลังจากที่ถูกฝังลงดิน หรือถ้าอยู่ในน้ำ ใช้เวลาเพียง 2 - 3 วันเท่านั้น และมนุษย์หรือสัตว์สามารถกินได้''

คาดการณ์ว่าหากพลาสติกที่ผลิตจากระบองเพชรถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย จะสามารถแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการจัดเก็บและทำลายอย่างถูกวิธีจะไหลลงสู่ท้องทะเลมากกว่า 8 ล้านตันต่อปี และปัญหาจากไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กมาก ซึ่งความเล็กของไมโครพลาสติกทำให้สัตว์ทะเลเสี่ยงที่จะบริโภคเข้าไปและสะสมตามส่วนต่าง ๆ เมื่อสัตว์ทะเลเหล่านั้นถูกจับขึ้นมาบริโภค ก็เป็นไปได้สูงมากที่ไมโครพลาสติกนั้นจะย้อนกลับมาทำลายสุขภาพมนุษย์อีกครั้งในรูปของอาหารทะเล

สำหรับการทดลองใช้เส้นใยจากพืชแทนพลาสติกนั้น ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการนำข้าวโพดมาทดลองผลิตพลาสติกด้วยเช่นกัน แต่เมื่อเทียบกันแล้ว พบว่ากระบองเพชรมีข้อดีเหนือกว่าข้าวโพดมากกว่า นั่นคือ มันสามารถเติบโตได้ในพื้นที่ทุรกันดาร ทำให้ไม่ต้องไปแย่งพื้นที่เพาะปลูกของพืชอาหาร อีกทั้งยังไม่ต้องดูแลมากนัก หรือในส่วนของการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศนั้น นักวิจัยพบว่ามันปล่อยคาร์บอนเท่าที่จำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มันใช้ในการเติบโตเท่านั้น


ขอบคุณที่มาจาก Sustainable Life - www.sustainablelife.co/news/detail/32