Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

‘อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ’ เทรนด์ใหม่มาแรง สร้างเม็ดเงินได้มหาศาล



ขยะพลาสติก ที่นับวันจะเป็นต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ ทั้งปัญหาปริมาณขยะและมลพิษในรูปของก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้นานาประเทศพยายามหาวิธีแก้ไข โดยการเคลื่อนไหวรณรงค์ลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก (Petroleum Based Plastics) หลัก ๆ คือ ขยะประเภทผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastics) ที่มีถึงเกือบร้อยละ 50 เป็นผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ (Packaging) เช่น ขวดพลาสติก แผ่นฟิล์มใสถนอมอาหาร และถุงพลาสติก ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีน (Polyethylene: PE) พอลิโพรไพลีน (Polypropylene: PP) และพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate: PET)





แต่อย่างไรก็ดี ในเมืองใหญ่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกนี้ได้ อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการขยายตัวของจำนวนประชากร การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือการเพิ่มขึ้นของประชากรในเขตเมือง ด้วยเหตุนี้ วัสดุทางเลือกอย่าง พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ที่ผลิตจากพืช ย่อยสลายง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงมาเป็นทางเลือกเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก โดย Bioplastics คือ พลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยการฝังกลบและย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ ซึ่งใช้เวลาย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน

จากเทรนด์ธุรกิจรักษ์โลก ส่งผลให้วัสดุทดแทนอย่าง พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) มีความต้องการสูงขึ้นทั่วโลก ‘อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ’ จึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastics) ในเอเชีย มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงสุดถึง (CAGR) 22% โดยในปัจจุบันตลาดหลักสำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ คือ
• ยุโรปตะวันตก เป็นตลาดผู้บริโภครายใหญ่ เนื่องจากพฤติกรรมของประชาชนในยุโรปร้อยละ 75 ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ประเทศเยอรมนี เนเธอร์แลนด์
• อเมริกาเหนือ เป็นพื้นที่ที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกมากที่สุดในโลก และเริ่มมีการยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกในบางพื้นที่ เช่น แคนาดา เม็กชิโก ส่วนสหรัฐฯ มีการงดใช้แล้วในบางรัฐ
• เอเชียแปซิฟิก และโอเชียเนีย ที่ผ่านมาพลาสติกชีวภาพยังไม่เป็นที่นิยม แต่การตื่นตัวตามกระแสและการกระตุ้นผ่านมาตรการจากภาครัฐ ผลักดันให้บางประเทศ เช่น ไต้หวัน จีน (บางมณฑล) ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย อิสราเอล มาเลเซีย โดยเฉพาะเมียนมาร์และบังคลาเทศ เริ่มลดใช้พลาสติกและหาผลิตภัณฑ์ทดแทน โดยในอนาคตเอเชียแปซิฟิกจะเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพซึ่งจะก้าวมาเป็นผู้นำตลาดแทนยุโรปในอีก 5 ปีข้างหน้า จากอัตราการเติบโตของความต้องการพลาสติกชีวภาพเฉลี่ยสะสมต่อปีถึงร้อยละ 224

ทั้งนี้ เม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA ที่สามารถผลิตได้จากพืช ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง หัวบีท อ้อย ข้าวสาลี และข้าวไรย์ ซึ่งที่นิยมมาก คือ มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพด ล้วนเป็นวัตถุดิบทางการเกษตรที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตสูงอยู่แล้ว

ปัจจุบัน ด้วยความต้องการพลาสติกชีวภาพจากกระแสรักษ์โลก รวมถึงความพร้อมในศักยภาพการเป็นผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพของไทย มีการคาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทยว่า จะมีอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างดี และมีคำแนะนำแก่ผู้ประกอบการทั้งอุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติก ที่สามารถปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้เอื้อต่อการผลิตพลาสติกชีวภาพได้ไม่ยาก


ขอบคุณที่มาและรูปภาพจาก SALIKA - www.salika.co/2019/10/16/bioplastic-industry-new-trend-thailand