Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

วิธีสังเกต ‘ยาเสื่อมคุณภาพ’ ได้ด้วยตนเอง



ยามีประโยชน์ต่อมนุษย์มากมายแต่บางครั้งก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ถ้าหากเราใช้ยาไม่ถูกต้องหรือเหมาะสม ซึ่งปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อย คือ ปัญหายาเสื่อมคุณภาพ มีคนจำนวนไม่น้อยมียาเก็บไว้ที่บ้านจำนวนมาก ทั้งยาที่ได้รับจากโรงพยาบาล ร้านยา หรือ คลินิก แล้วรับประทานไม่หมด เมื่อมีอาการเจ็บป่วยก็อาจนำยาที่เหลืออยู่มารับประทาน ถ้าเรารับประทานยาเสื่อมคุณภาพไปโดยไม่รู้ตัวอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล หรือก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้





วิธีการตรวจสอบคุณภาพยาอย่างง่ายที่สามารถทำได้เอง เพื่อสังเกตยาเสื่อมสภาพ
1. ยาที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ของบริษัทผู้ผลิต สังเกตได้จากวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ เช่น ที่แผงยา ซองยา เป็นต้น กรณีที่ระบุเฉพาะเดือนและปีที่หมดอายุ วันหมดอายุจะเป็นวันสุดท้ายของเดือน
2. ยาแบ่งบรรจุล่วงหน้า (pre-pack) จะมีอายุการใช้งาน 1 ปี นับจากวันที่แบ่งบรรจุ
3. ยาน้ำที่ยังไม่ได้เปิดใช้ มีอายุ 3 ปีนับจากวันผลิต ยาน้ำที่มีสารกันเสียทั้งชนิดรับประทานและใช้ภายนอก หากเปิดใช้แล้วมีอายุไม่เกิน 6 เดือน การเก็บรักษายาจะต่างกันไปตามที่บริษัทผู้ผลิตกำหนด
4. ยาน้ำเชื่อม หลังเปิดใช้ควรเก็บไว้ไม่เกิน 1 เดือน และเก็บที่อุณหภูมิห้อง (การแช่ตู้เย็นไม่ช่วยยืดอายุยา แต่อาจทำให้ยาตกตะกอน หรือน้ำเชื่อมตกผลึก ยกเว้น azithromycin syrup ต้องเก็บในตู้เย็น)
5. ยาหยอดตา ยาป้ายตา หากเป็นชนิดที่ใส่สารต้านเชื้อ (preservative) โดยทั่วไปจะมีอายุไม่เกิน 1 เดือนหลังการเปิดใช้ หากเป็นชนิดไม่เติมสารต้านเชื้อควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน วิธีเก็บรักษาปฏิบัติตามฉลากยา

การเสื่อมสภาพของยาเกิดขึ้นได้ใน 3 ลักษณะ
1. การเสื่อมสภาพทางเคมี ได้แก่ การลดลงของปริมาณตัวยาสำคัญ และการเพิ่มขึ้นของสารสลายตัว
2. การเสื่อมสภาพทางกายภาพ ได้แก่ ความผิดปกติของสี กลิ่น รสชาติ ความใส หรือการเกิดตะกอน
3. การเสื่อมสภาพทางจุลชีววิทยา ได้แก่ การปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียเกินระดับปลอดภัย

ตัวอย่างลักษณะยาที่เสื่อมสภาพ
• ยาเม็ด เม็ดยาแตกหัก กะเทาะ แตกร่วน บวม มีรอยด่าง สีเปลี่ยน เม็ดยาติดกัน ยาเม็ดเคลือบน้ำตาลอาจมีการเยิ้มเหนียวหรือมีกลิ่นผิดไปจากเดิม
• ยาผง ผงยาและแกรนูลจับตัวกันเป็นก้อนแข็ง หรือเปลี่ยนสี ไม่สามารถละลายน้ำได้
• ยาแคปซูล แคปซูลแข็ง บวมโป่ง อาจมีจุดเชื้อราขึ้นที่เปลือกแคปซูล ภายในแคปซูลจะสังเกตเห็นว่า ผงยาเปลี่ยนสีจับกันเป็นก้อน ส่วนแคปซูลนิ่ม เปลือกแคปซูลเยิ้มเหลวเหนียวกว่าปกติ แคปซูลเปื่อยทะลุ ทำให้ตัวยาไหลออกมาด้านนอก
• ยาน้ำใสหรือยาน้ำเชื่อม ขุ่น มีตะกอน เกิดฟองก๊าซ สี กลิ่น และรสชาติ เปลี่ยนไปจากเดิม
• ยาอิมัลชัน เกิดการแยกชั้นของยา เขย่าแล้วไม่สามารถเป็นเนื้อเดียวกันได้
• ยาน้ำแขวนตะกอน ตะกอนจะจับกันเป็นก้อน เกาะติดกันแน่น เขย่าแล้วไม่กระจายตัวดังเดิม มีความเข้มข้น กลิ่น สีหรือรสเปลี่ยนไป
• ยาครีมและยาขี้ผึ้ง เกิดการแยกชั้น สี เนื้อสัมผัส และความหนืดเปลี่ยนไป มีกลิ่นผิดปกติ

ยานั้นมีคุณอนันต์เมื่อใช้อย่างถูกต้อง แต่ยาก็มีโทษมหันต์หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง หากสงสัยหรือไม่เข้าใจเรื่องใด "อย่าลืมปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น" ด้วยความห่วงใยจาก Thailand Biotech Guide


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.doctor.or.th, www.sanook.com