Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

การแพทย์ทางเลือก… ศาสตร์เพื่อการแสวงหาทางรอด



การแพทย์ทางเลือก (Alternative Medicine) คือ แนวทางการรักษาอีกรูปแบบหนึ่งที่มีการเอาพื้นฐานการใช้ชีวิต สภาพจิตใจ ความคิด ปัจจัยสังคมภายนอก มาผสมผสานรวมกัน เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการโดยรวมดีขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยการแพทย์แผนปัจจุบัน





5 กลุ่ม การแพทย์ทางเลือก
การจำแนกตามกลุ่มของการแพทย์ทางเลือก หน่วยงาน National Center of Complementary and Alternative Medicine (NCCAM) ของสหรัฐอเมริกา ได้จำแนกออกเป็น 5 กลุ่ม เมื่อปี 2005 ดังนี้
1. Alternative Medical Systems คือ การแพทย์ทางเลือกที่มีวิธีการตรวจรักษาวินิจฉัยและการบำบัดรักษาที่มีหลากหลายวิธีการ ทั้งด้านการให้ยา การใช้เครื่องมือมาช่วยในการบำบัดรักษาและหัตถการต่าง ๆ เช่น การแพทย์แผนโบราณของจีน (Traditional Chinese Medicine) การแพทย์แบบอายุรเวชของอินเดีย เป็นต้น
2. Mind-Body Interventions คือ วิธีการบำบัดรักษาแบบใช้กายและใจ เช่น การใช้สมาธิบำบัด โยคะ ชี่กง เป็นต้น
3. Biologically Based Therapies คือ วิธีการบำบัดรักษาโดยการใช้ สารชีวภาพ สารเคมีต่าง ๆ เช่น สมุนไพร วิตามิน Chelation Therapy Ozone Therapy หรือแม้กระทั่งอาหารสุขภาพ เป็นต้น
4. Manipulative and Body-Based Methods คือ วิธีการบำบัดรักษาโดยการใช้ หัตถการต่าง ๆ เช่น การนวด การดัด การจัดกระดูก Osteopathy Chiropractic เป็นต้น
5. Energy Therapies คือ วิธีการบำบัดรักษาที่ใช้พลังงานในการบำบัดรักษา สามารถวัดได้และไม่สามารถวัดได้ในการบำบัดรักษา เช่น การสวดมนต์บำบัด พลังกายทิพย์ พลังจักรวาล เรกิ โยเร เป็นต้น

ความจำเป็นของการแพทย์ทางเลือก
1. พัฒนาการของเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ก่อให้เกิดมลภาวะ เป็นเหตุให้ร่างกายของเราเจ็บป่วย แต่โรคเรื้อรังเหล่านี้ยากที่จะรักษาหายได้ด้วยยาแผนปัจจุบัน หากไม่มีการแพทย์ทางเลือกมาใช้ในการรักษาควบคู่กันไป
2. ความเครียดในการทำงานหรือการแข่งขันในสังคม ทำให้มีอาการต่าง ๆ ที่การแพทย์ทั่วไปไม่สามารถสังเกตเห็นหรือไม่สามารถรักษาได้ แต่การแพทย์ทางเลือกกลับมีบทบาทสำคัญในกรณีดังกล่าว
3. ยาทุกชนิด ไม่ว่าเป็นยาแผนโบราณสมุนไพร หรือยาแผนปัจจุบันของโลกตะวันตก เมื่อใช้รักษาเป็นเวลานานก็จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเผชิญกับผลข้างเคียงไม่มากก็น้อย แต่ก็เป็นโอกาสของการแพทย์ทางเลือกที่ได้แสดงศักยภาพในการรักษาอย่างไร้ผลทางลบ
4. สำหรับโรคเรื้อรัง การรักษาด้วยยาบางทีก็แค่เพื่อยืดเวลาชีวิตหรือผ่อนคลายความเจ็บปวดอย่างชั่วคราวเท่านั้น โดยเชิงลึกแล้วอาจจะเป็นการให้เวลาเชื้อโรคในการระบาดอย่างช้า ๆ แต่ไม่อาจจะรักษาโรคได้จากต้นเหตุเลย เช่น โรคความดันสูง โรคเบาหวาน โรคนอนไม่หลับ โรคหายใจเฉียบพลัน และอาการปวดหัว เป็นต้น และการใช้เป็นเวลานานยังทำให้เกิดการดื้อยา ในแง่นี้การแพทย์ทางเลือกก็จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
5. การแพทย์ทางเลือกไม่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญมารักษา และไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่อาศัยเครื่องมืออุปกรณ์ที่ปฏิบัติใช้อย่างง่ายดาย
6. ประหยัด และง่ายในการรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก สามารถแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้
7. ความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ต้องการมีวิธีรักษาโรคที่เป็นธรรมชาติ หากรักษาได้โดยไม่ต้องอาศัยการทานยา หรือฉีดยา ก็จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
8. การรักษาด้วยวิธีทางฟิสิกส์แทนที่จะเป็นวิธีเคมีก็เป็นแนวทางการพัฒนาอีกแบบหนึ่ง และมีศักยภาพที่จะปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
9. การรักษาด้วยตัวเองเป็นข้อได้เปรียบอีกข้อหนึ่งของการแพทย์ทางเลือก เพราะผู้ป่วยเองจะมีโอกาสทำความเข้าใจกับต้นสายปลายเหตุของโรคโดยตรง รับรู้สถานการณ์ของการรักษา และสามารถปรับปรุงการรักษาจากประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งดีกว่า และมีประสิทธิภาพสูงกว่าการรักษาด้วยคนอื่น

หลักในการพิจารณาเลือกใช้การแพทย์ทางเลือก
ในการพิจารณาเลือกใช้การแพทย์ทางเลือก ควรคำนึงถึงหลัก 4 ประการ คือ
- ความน่าเชื่อถือ (Rational) โดยดูจากวิธีการหรือองค์ความรู้ด้านการแพทย์ทางเลือกชนิดนั้น ประเทศต้นกำเนิดให้การยอมรับหรือไม่ หรือมีการใช้แพร่หลายหรือไม่ ใช้มาเป็นเวลานานเพียงใด มีการบันทึกไว้หรือไม่ อย่างไร เป็นต้น
- ความปลอดภัย (Safety) เป็นเรื่องสำคัญมากว่า จะส่งผลกับสุขภาพของผู้ใช้อย่างไร การเป็นพิษแบบเฉียบพลันมีหรือไม่ พิษแบบเรื้อรังมีเพียงใด อันตรายที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวมีหรือไม่ หรือวิธีการนั้นทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ เป็นต้น
- การมีประสิทธิผล (Efficacy) เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์หรือมีข้อพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถใช้ได้จริง มีข้อมูลยืนยันได้ว่าใช้แล้วได้ผล ซึ่งอาจต้องมีจำนวนมากพอหรือใช้มาเป็นเวลานานจนเป็นที่ยอมรับจากการศึกษาวิจัยหลากหลายวิธีการ เป็นต้น
- ความคุ้มค่า (Cost - Benefit - Effectiveness) โดยเทียบว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดด้วยวิธีนั้น ๆ คุ้มค่ากับการรักษาโรคที่ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานหรือไม่ โดยอาจเทียบกับฐานะทางการเงินของผู้ป่วยแต่ละคน เป็นต้น

การแพทย์ทางเลือกที่นิยมในประเทศไทย
1. นวด, ออกกำลังกาย, การดูแล ฟื้นฟูสุขภาพพืชผัก ผลไม้, การทำสมาธิ, พยายามผ่อนคลายความเครียด และการเล่นโยคะ
2. การหยุดบริโภคอาหารเพื่อให้มีสุขภาพดีขึ้น, การเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง, การทานอาหารที่มาจากธรรมชาติ, ฝึกจังหวะของการหายใจ, แนะนำ ให้คำปรึกษาหรือแนวทางที่เหมาะสม, การใช้ดนตรีบำบัด และการใช้สมุนไพรเพื่อรักษา
3. การฝังเข็ม, การสวนเพื่อล้างลำไส้, ดีท็อกซ์ ล้างพิษ, รักษาด้วยการใช้อาหาร, ใช้อาหารเสริมเพื่อการบำบัด ฟื้นฟู, แมคโครไบโอติกส์ (การทานอาหารอย่างสมดุลตามกฎหยิน-หยาง) และการใช้จินตภาพบำบัด

การรักษาในแนวทางการรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกอาจมีประโยชน์หลายอย่าง แต่ก็ควรพูดคุยกับแพทย์และผู้ให้การรักษาแก่คุณทุกคนเกี่ยวกับการรักษาชนิดต่าง ๆ ที่คุณได้รับอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สูงสุดทางสุขภาพของคุณเอง


ขอบคุณที่มาจาก :
www.chulatutor.com/blog/cam
www.bangkokhealth.com/health/article/การแพทย์ทางเลือก-654
https://med.mahidol.ac.th/altern_med/th/ocam