Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

จุลินทรีย์โปรไบโอติก มิตรตัวน้อยแต่ประโยชน์มหาศาล



โปรไบโอติก (Probiotics) คือ จุลินทรีย์มีชีวิตและเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีอยู่ในอาหาร เมื่อเราบริโภคเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการแล้วจะส่งผลดีต่อสุขภาพ จุลินทรีย์ชนิดนี้สามารถพบได้ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ แตงกวาดอง ชีส Dark Chocolate ซุปมิโซะ เป็นต้น




ประโยชน์ของโปรไบโอติก (Probiotics) ที่มีต่อสุขภาพ มีดังนี้

1. ป้องกันโรคทางเดินอาหารในทารก
ทารกที่เพิ่งคลอดจะมีภูมิต้านทานโรคน้อย โดยเฉพาะบริเวณลำไส้และกระเพาะอาหาร ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่รุนแรงได้ ดังนั้น การให้ทารกดื่มนมแม่จะช่วยเสริมภูมิต้านทานให้กับทารกได้ เพราะว่าในน้ำนมแม่มีจุลินทรีย์บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) ที่มีประโยชน์ต่อทารก โดยบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) จะเข้าไปยึดเกาะกับผนังของลำไส้เล็กแล้วเจริญเติบโตสมบูรณ์ ส่งผลให้ลำไส้เล็กมีความแข็งแรงต้านทานต่อโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้ดี และเข้าไปกระตุ้นการสร้างเมือกที่ใช้ในการจับเชื้อไวรัสโรต้าให้มีความหนาขึ้น ทำให้มีโอกาสจับเชื้อโรคได้มากขึ้น จึงลดความเสี่ยงในเป็นโรคท้องเสียชนิดรุนแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้าได้เป็นอย่างดี รวมถึงการท้องเสียที่เกิดจากเชื้อ Enterovirus ที่พบได้ในเด็กด้วย

2. ป้องกันโรคลำไส้อักเสบ
โดยโปรไบโอติกจะเข้าไปยึดเกาะกับเนื้อเยื่อบนผนังลำไส้เอาไว้ ทำให้ไม่มีช่องว่างหรือพื้นที่ว่างให้เชื้อโรคร้ายเข้ามาทำร้ายผนังลำไส้ได้ ผนังลำไส้จึงไม่เกิดการอักเสบ แต่ถ้าร่างกายมีปริมาณโปรไบโอติกน้อยไม่สามารถยึดเกาะกับเนื้อเยื่อของผนังลำไส้ได้ทั้งหมด เมื่อร่างกายรับเชื้อที่ก่อโรคเข้ามา เชื้อก่อโรคก็จะเข้าไปจับกับผนังลำไส้บริเวณที่ว่างอยู่ ทำให้เนื้อเยื่อในบริเวณนั้นเกิดการระคายเคืองหรืออักเสบขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคลำไส้อักเสบ

3. ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรค ทั้งที่อยู่ในร่างกายและที่ร่างกายรับเข้ามาจากภายนอก
โดยการที่โปรไบโอติกจะเข้าไปแย่งอาหารของจุลินทรีย์ก่อโรคไปจนหมด ทำให้จุลินทรีย์ก่อโรคขาดอาหารส่งผลให้จุลินทรีย์ก่อโรคหยุดการเจริญเติบโตและตายไปในที่สุด นอกจากแย่งอาหารของจุลินทรีย์ก่อโรคแล้ว โปรไบโอติกยังผลิตกรดอะซิติกและแลคติกขึ้นมา เพื่อควบคุมระดับความเป็นกรดเป็นด่างภายในลำไส้ให้ไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรค จุลินทรีย์ก่อโรคจึงมีปริมาณลดลงไม่สามารถส่งผลหรือก่อโรคภายในร่างกายได้

4. ทำลายจุลินทรีย์ก่อโรค
โปรไบโอติกจะปล่อยสารแบคเทอริโอซิน (Bacteriocin) ที่มีคุณสมบัติทำลายเชื้อแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ก่อโรค โดยสารแบคเทอริโอซิน (Bacteriocin) จะเข้าไปทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของจุลินทรีย์ก่อโรค ทำให้เซลล์เกิดการสูญเสียสารอาหารและน้ำ ส่งผลให้จุลินทรีย์ก่อโรคเสื่อมสภาพและตายในที่สุด จุลินทรีย์ก่อโรคจึงไม่สามารถทำให้เกิดโรคในร่างกายได้ จึงป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

5. ช่วยดูดซึมสารอาหาร
โปรไบโอติกจะผลิตเอนไซม์ที่ช่วยในการย่อยอาหาร เช่น เอนไซม์ไลเปส (Lipase) ที่ย่อยไขมันให้เป็นกรดไขมัน และกลีเซอรอล เอนไซม์โปติเอส (Proteases) ช่วยในการย่อยโปรตีนให้มีขนาดเล็กลง เป็นต้น เมื่อไขมันและโปรตีนมีขนาดที่เล็กลงจึงทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมได้มากขึ้น

6. เสริมสร้างภูมิต้านทาน
โปรไบโอติกที่ยึดเกาะอยู่กับเนื้อเยื่อของผนังลำไส้จะเข้าไปกระตุ้นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในชั้นใต้ผิวของผนังลำไส้ (Gut-Associated Lymphocyte Tissue, GALT) ทำให้ต่อมน้ำเหลืองมีการสร้างสารป้องกันหรือสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายให้อยู่ในระดับที่มีความสมดุล ส่งผลให้เมื่อมีเชื้อโรคเข้ามาระบบภูมิคุ้มกันจะเข้าไปกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวทำการจับตัวกับเชื้อโรคได้ดีขึ้น ทำให้เชื้อโรคโดนทำลายอย่างมีประสิทธิภาพ

7. ลดระดับคอเลสเตอรอล
โปรไบโอติกชนิด Lactobacillus Acidophilus ที่อยู่ในกลุ่มของบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) จะเข้าไปช่วยย่อยคอเลสเตอรอลและยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลที่อยู่ในลำไส้ และทำการขับเอาคอเลสเตอรอลออกมากับอุจจาระจึงช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้

8. ป้องกันท้องผูก
จุลินทรีย์บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) สามารถผลิตกรดอินทรีย์ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้มีการบีบตัวมากขึ้นและยังเข้าไปเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับอุจจาระ ทำให้อุจจาระมีความอ่อนนุ่ม สามารถขับถ่ายออกมาได้ง่าย จึงสามารถป้องกันอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี

9. ลดอาการข้างเคียงจากยาปฏิชีวะนะ
การทานยาปฏิชีวะนะหรือยาฆ่าเชื้อเข้าไป นอกจากยาจะเข้าไปฆ่าเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคแล้ว ยาปฏิชีวะนะยังฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดภายในร่างกาย ทั้งจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ส่งผลให้เมื่อรับประทานยาปฏิชีวะนะอาจจะมีอาการท้องเสียเกิดขึ้นเป็นอาการข้างเคียงได้ การรับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติกเข้าไปจะความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวได้ เพราะการทานโปรไบโอติกเข้าไปจะช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในร่างกายป้องกันการท้องเสียได้

10. ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง
โปรไบโอติกเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่ป้องกันการอักเสบหรือติดเชื้อของเซลล์ภายในร่างกาย เมื่อเซลล์ไม่ได้รับการทำร้ายจากเชื้อโรคเซลล์ย่อมมีความแข็งแรง โดยเฉพาะดีเอ็นเอของเซลล์จะคงอยู่เหมือนเดิมไม่เกิดการกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็ง และเมื่อไม่มีการสะสมของเสียในลำไส้จึงไม่มีอนุมูลอิสระเกิดขึ้น ทำให้ผนังลำไส้ไม่เกิดการอักเสบซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ ดังนั้น การที่ร่างกายได้รับโปรไบโอติย่อมลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ โดยเฉพาะโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร

โปรไบโอติกจัดเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก ก็ต่อเมื่อได้รับในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายในขณะนั้น หากได้รับโปรไบโอติกจำนวนมากเกินไป หรือได้รับโปรไบโอติกในขณะที่ร่างกายอยู่ในสภาวะภูมิคุ้มกันลดลง เช่น ช่วงที่ได้รับเคมีบำบัด ช่วงที่ร่างกายมีเม็ดเลือดขาวต่ำ อาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้


ขอบคุณข้อมูลจาก AMPRO HEALTH - https://amprohealth.com/nutrition/probiotics