Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

รักษาอย่างตรงจุดด้วย 'รังสีรักษา'



นวัตกรรมรังสีรักษา เป็นวิวัฒนาการเทคโนโลยีทางรังสีรักษา ซึ่งถูกพัฒนาก้าวหน้าขึ้นให้มีความถูกต้องแม่นยำ และอาจต้องใช้องค์ประกอบอื่น ๆ ผสมผสานประกอบการรักษา เพื่อให้ผลการดูแลรักษาที่ดีที่สุด





รังสีรักษา (Radiation Therapy) คือ การรักษาโรควิธีการหนึ่ง โดยใช้รังสีเป็นตัวรักษา แทนการใช้ยา และให้การรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางที่ให้การรักษาด้านรังสีรักษา เรียกว่า รังสีรักษาแพทย์ หรือ แพทย์รังสีรักษา

รังสีที่นำมาใช้รักษาโรคนั้นมีหลายชนิด แต่ถ้าเป็นรังสีที่ใช้ในการรักษา คือ รังสีประเภทไอออนไนเซชัน (Ionization) ซึ่งเป็นรังสีประเภทเดียวกับ รังสีเอ็กซ์ หรือที่เรารู้จักกันดีที่ใช้ในการตรวจโรค นั่นก็คือ เอ็กซเรย์ (x-ray) แต่รังสีที่ใช้รักษาโรคมีพลังงานสูงกว่ารังสีเอ็กซ์ทีใช้ตรวจโรคมากเป็นหลาย ๆ เท่า และใช้จำนวน / ขนาด / ปริมาณรังสีในการรักษาสูงกว่าที่ใช้ในการตรวจโรคมาก

คุณสมบัติของรังสี ไอออนไนเซชัน (Ionization) คือ หยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ โดยการฆ่าเซลล์ หรือ ทำให้เซลล์ลดการแบ่งตัว หรือ ทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่ทำให้เกิดโรค จึงทำให้สามารถควบคุมโรคนั้น ๆ ได้

รังสีจะทำลายเซลล์ที่เจริญเติบโตเร็ว ดังนั้น เซลล์มะเร็งที่เติบโตเร็วจึงถูกทำลายได้ง่าย เซลล์ปกติของมนุษย์มีความสามารถในการซ่อมแซมตนเองได้ดีกว่าเซลล์มะเร็ง จึงสามารถกลับสู่สภาวะปกติได้ดีหลังจากได้รับรังสี นอกจากนี้แพทย์ทางรังสีรักษามีเครื่องมือและวิธีการ เพื่อทำให้ลำรังสีเข้าถึงบริเวณที่เป็นก้อนมะเร็งได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อปกติน้อยที่สุด

รังสีรักษา มักใช้รักษากับผู้ป่วยโรคมะเร็ง แต่ก็ยังมีโรคอื่น ๆ ที่ใช้รังสีรักษาได้ เช่น เนื้องอกในสมอง เนื้องอกต่อมใต้สมอง โรคหลอดเลือดโป่งพองในสมอง โรคไขข้อบางชนิด โรคปานแดงบางชนิด และยังสามารถป้องกันการเกิดแผลเป็นจากการผ่าตัด การรักษาโรคดังกล่าวต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าควรต้องรักษาด้วยรังสีรักษา

รังสีรักษามีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่
1. การฉายรังสีระยะไกล (Teletherapy) เป็นการรักษาด้วยรังสีที่ได้จากเครื่องกำเนิดรังสีที่อยู่ห่างจากตัวผู้ป่วย แพทย์จะวางแผนการฉายรังสีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ระยะเวลาฉายสัปดาห์ละ 5 วัน ใช้เวลาประมาณ 4 - 8 สัปดาห์ ตามแต่ชนิดของโรคและแผนการรักษาของแพทย์ ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บหรือแสบร้อนที่ผิวแต่อย่างใด และสามารถกลับบ้านได้

2. การให้รังสีระยะใกล้ (Brachytherapy) หรือที่เรียกกันว่าการฝังแร่ หรือใส่แร่ เป็นการนำสารกัมมันตรังสีซึ่งห่อหุ้มมิดชิดใส่เข้าไปภายในตัวผู้ป่วยหรือวางชิดกับบริเวณที่ต้องการจะรักษา ซึ่งการฝังแร่มี 2 วิธี คือ
• การฝังแร่แบบถาวร เป็นการใส่ต้นกำเนิดของรังสีซึ่งมีขนาดเล็กและให้ปริมาณรังสีต่ำไว้ภายในก้อนมะเร็งแบบถาวร ส่วนใหญ่จะใช้วิธีนี้รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
• การฝังแร่แบบชั่วคราว เป็นการใส่ต้นกำเนิดของรังสีภายในหรือใกล้ ๆ กับก้อนมะเร็งแบบชั่วคราว โดยต้นกำเนิดของรังสีจะให้อัตราปริมาณรังสีขนาดสูง มักใช้รักษามะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก
การฝังแร่ แพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ตำแหน่ง ขนาด และการแพร่กระจายของมะเร็ง เพื่อให้ได้วิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย และการฝังแร่กัมมันตรังสีอาจใช้เป็นการรักษาเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับการรักษาอื่น ๆ เช่น การฉายรังสีภายนอก หรือการผ่าตัด

รังสีรักษาในโรคมะเร็ง
การรักษาโรคมะเร็งทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด และการรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง เป็นต้น ซึ่งแพทย์อาจรักษาด้วยวิธีเดียวหรือใช้หลายวิธีร่วมกัน หากใช้รังสีในการรักษาโรคมะเร็ง จะใช้รังสีตรงเข้าทำลายสารพันธุกรรม (DNA) ภายในเซลล์มะเร็งเพื่อหยุดยั้งการเจริญเติบโตและทำให้เซลล์มะเร็งตายไปในที่สุด ซึ่งปัจจุบัน เทคโนโลยีของรังสีรักษาพัฒนาให้ก้าวหน้าไปมาก ทำให้แพทย์กำหนดตำแหน่งของการรักษาได้แม่นยำ โดยรักษาเนื้อเยื่อปกติโดยรอบให้ปลอดภัยจากรังสี ลดผลข้างเคียงลงและควบคุมโรคได้มากขึ้น

ผลข้างเคียงของการใช้รังสีรักษาอาจมีได้ แต่โอกาสน้อยมาก โดยปกติแล้วเซลล์หรือเนื้อเยื่อมักจะทนต่อรังสีได้ดีกว่าเซลล์ของโรค ยกเว้นผู้ป่วยบางรายที่เซลล์หรือเนื้อเยื่อไวต่อรังสีมากกว่าปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยมีการติดเชื้อ/การอักเสบในเซลล์/เนื้อเยื่อที่ได้รับรังสี หรือ ผู้ป่วยที่มีพันธุกรรมไวต่อรังสีมากเป็นพิเศษมากกว่าคนทั่วไป



ขอบคุณที่มาโดย สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่ง ประเทศไทย , โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์



บทความน่าสนใจ
คีเลชั่นบำบัดกำจัดสารพิษในร่างกาย (Chelation Therapy)