Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19



สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ยังระบาดอยู่ทั่วโลกนั้น ยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นเพราะเชื้อที่พบทำให้ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ กว่าจะรู้ว่าตนเองติด เชื้อก็อาจแพร่กระจายไปสู่คนอื่น ๆ ได้มากแล้ว ปัจจุบันได้มีการนำวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข้ามา และฉีดให้กับบางกลุ่มแล้ว ลองมาทำความรู้จักวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กัน





ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไปทำไม ?
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สามารถลดความรุนแรงของอาการป่วยและลดการเสียชีวิตได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นภาวะฉุกเฉินของโลก ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนรวมทั่วโลกแล้วกว่า 100 ล้านโดส สำหรับประเทศที่มีการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 มากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา รองลงมา คือ ประเทศจีน และอังกฤษตามลำดับ (ข้อมูลวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564)

วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีกี่ชนิด ?
วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขณะนี้มีด้วยกัน 4 ชนิดหลัก ๆ แบ่งตามเทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีน คือ
mRNA vaccines เป็นการผลิตโดยใช้สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะทำให้ร่างกายสร้างโปรตีนที่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา
Viral vector vaccines เป็นการฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไปในสารพันธุกรรมของไวรัสชนิดอื่นที่อยู่ในสภาพที่ไม่ก่อให้เกิดโรค เพื่อพาเข้ามาในร่างกาย ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา
Protein-based vaccines จะใช้โปรตีนบางส่วนของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เช่น โปรตีนส่วนหนาม (spike protein) ฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส
Inactivated vaccines ผลิตโดยการใช้ไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ถูกทำให้ตายแล้ว เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส

วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด มีอะไรบ้าง ?
ขณะนี้มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ที่ได้รับการอนุมัติและใช้กันแล้วในต่างประเทศ ได้แก่ วัคซีนของ Pfizer-BioNTech (สหรัฐอเมริกา) วัคซีนของ Moderna (สหรัฐอเมริกา) วัคซีนของ Gamaleya (รัสเซีย) วัคซีนของ AstraZeneca (สหราชอาณาจักร) วัคซีนของ Sinovac (จีน) และวัคซีนของ Sinopharm (จีน) เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยมีการพิจารณานำเข้าวัคซีน โดยจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียน และได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างถูกต้อง รวมถึงมีการอนุมัติใช้แล้วในหลากหลายประเทศ และได้รับการรับรองจากองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization; WHO)

ใครควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ?
เป้าหมายของการให้วัคซีน คือ เพื่อลดการป่วยรุนแรง การเสียชีวิตจากโรค และการสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากร เนื่องจากปริมาณของวัคซีนมีจำกัด จึงแบ่งกลุ่มที่จะได้รับการฉีดวัคซีนตามลำดับ ดังนี้
• กลุ่มเป้าหมายในระยะแรก คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า
• กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสโรคสูง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
• กลุ่มเป้าหมายในระยะถัดไปเมื่อมีปริมาณวัคซีนมากขึ้น คือ ประชาชนทั่วไป

หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันภายในกี่วัน ?
วัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิต้านทานสูงสุดในร่างกาย หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นเวลาเฉลี่ย 14 - 28 วัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับวัคซีนให้ครบเพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุด

วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีความปลอดภัยมากเพียงใด ?
แม้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีระยะเวลาการศึกษาไม่นาน และมีการผลิตใช้ในช่วงเวลาอันสั้น แต่วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่นำมาใช้ในประเทศไทย ผ่านการขึ้นทะเบียนและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แห่งประเทศไทยตามมาตรฐาน รวมถึงมีข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนจากการใช้ในหลากหลายประเทศ อีกทั้งมีการติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดและรายงานตามระบบที่กำหนดไว้ แม้จะมีรายงานผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และมีไข้ แต่สามารถหายได้เองหลังฉีดยาประมาณ 2 – 3 วัน ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงนั้นพบน้อยมาก เช่น การแพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis) เป็นต้น


ขอบคุณที่มาโดย ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ขอบคุณภาพโดย Label photo created by rawpixel.com - Freepik.com


บทความน่าสนใจ
‘วัคซีนพาสปอร์ต’ ปูทางสู่การฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาด