Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

Home Isolation รักษาตัวที่บ้านอย่างปลอดภัย



สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น มีผู้ติดเชื้อถึงหลักหมื่นคน ทำให้เตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ ประกอบกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล หรืออยู่โรงพยาบาลในระยะเวลาสั้น ๆ และไปพักฟื้นต่อที่บ้านหรือสถานที่ที่รัฐจัดให้ แนวคิด Home Isolation หรือ การรักษาตัวเองจากที่บ้าน รวมถึงการดูแลรักษาใน Hospitel จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยโควิด-19





Home Isolation หรือ การแยกกักตัวที่บ้าน สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในเกณฑ์ ดังนี้
• ผู้ป่วยโควิด-19 ที่กำลังรอ Admit หรือรอเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์พิจารณาแล้วว่าสามารถรักษาตัวที่บ้านได้
• ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวในโรงพยาบาล หรือสถานที่ที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 10 วัน และแพทย์พิจารณาว่าสามารถทำ Home Isolation ต่อได้

คุณสมบัติของผู้ที่สามารถ Home Isolation ได้
• เป็นผู้ติดเชื้อที่สบายดี หรือไม่มีอาการ (Asymptomatic Cases)
• มีอายุน้อยกว่า 60 ปี
• มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
• ไม่มีภาวะอ้วน หรือดัชนีมวลกาย >30 กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว >90 กก.
• ไม่มีโรคร่วม ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD ระยะที่ 3, 4) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ หรือโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
• อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
• ยินยอมแยกตัวในที่พักของตัวเอง





การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อทำ Home Isolation
• ห้ามออกจากที่พัก และห้ามผู้ใดมาเยี่ยมบ้าน
• ห้ามเข้าใกล้หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
• แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกไม่ได้ควรแยกให้ห่างจากผู้อื่นให้มากที่สุด และความเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
• แยกรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ควรรับประทานในห้องของตน และอุปกรณ์ทานอาหารที่เป็นส่วนตัว
• สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากไม่ได้อยู่คนเดียว
• ล้างมือด้วยสบู่ หรือทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์เจลทุกครั้งที่จำเป็นต้องสัมผัสกับของใช้ต่าง ๆ
• แยกซักเสื้อผ้า และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่ หรือผงซักฟอก
• ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และล้างทำความสะอาดห้องน้ำทุกครั้งที่ใช้เสร็จ
• แยกขยะ โดยมัดปากถุงขยะให้แน่น

สิ่งที่ผู้ป่วยโควิด-19 จะได้รับการสนับสนุนเมื่อต้องทำ Home Isolation
• อุปกรณ์ประเมินอาการ ได้แก่ ปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดแบบหนีบนิ้ว เพื่อประเมินการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดว่าปกติดีหรือไม่ ค่าปกติจะอยู่ที่ประมาณ 97 - 100% ถ้าตัวเลขอยู่ที่ 94% หรือต่ำกว่านั้น คือ อยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะมีแนวโน้มที่เชื้อโควิด-19 จะลงปอด
• การประเมินอาการผ่านระบบเทเลเมด หรือ การนําเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-Time โดยแพทย์และพยาบาลทุกวัน
• การให้ยารับประทาน ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
• อาหาร 3 มื้อ
• การติดตามประเมินอาการ และให้คำปรึกษา
• หากมีอาการเปลี่ยนแปลงหรือแย่ลงให้แจ้งทีมแพทย์ และรีบนำส่งโรงพยาบาล

อาการสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 Home Isolation ที่ควรรีบติดต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที
• Oxygen Saturation < 96%
• อุณหภูมิร่างกาย > 38 องศาเซลเซียส
• อาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก
• อาการเจ็บ ปวด แน่นหน้าอกอย่างต่อเนื่อง
• ไม่รู้สึกตัว ปลุกไม่ตื่น ไม่ตอบสนอง
• เล็บและริมฝีปากซีดลง หรือมีสีคล้ำขึ้น

หาก Home Isolation ไม่ได้รับการติดต่อสังเกตอาการควรทำอย่างไร
• กรอกข้อมูลเพื่อลงทะเบียนที่ https://crmsup.nhso.go.th/ หรือแอดไลน์ @nhso และกดลงทะเบียนในระบบดูแลที่บ้าน Home Isolation และรอเจ้าหน้าที่ยืนยันข้อมูล
• เมื่อได้รับการยืนยันแล้วจะได้รับข้อมูล ได้แก่ Video Call ประเมินอาการ 2 ครั้งต่อวัน / อาหาร 3 มื้อ / ยาพื้นฐานและยาฟ้าทะลายโจร / เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว / ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล / การประสานงานรับการรักษากรณีอาการหนักขึ้น

การลงทะเบียนติดตามอาการ Home Isolation หากมีบัตรทองสามารถลงทะเบียนได้ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 กด 14 หากมีสิทธิ์ประกันสังคม โทร 1506 กด 6 กรณีต้องการกลับภูมิลำเนาเพื่อรักษาตัว โทร 1330 กด 15

สิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 คือ ต้องสังเกตอาการของตัวเอง วัดอุณหภูมิทุกวัน หากอาการแย่ลง เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูง ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ ทางโรงพยาบาลจะมีรถไปรับเพื่อนำส่งเข้ารับการรักษา หรือหากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องเดินทางมาโรงพยาบาลด้วยตัวเอง แนะนำให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวและต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากมีผู้ร่วมยานพาหนะไปด้วยให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ และเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่เดินทางไปด้วย

เมื่อสิ้นสุดกระบวนการรักษา Home Isolation แล้ว ยังคงต้องระวังตัวเองอย่างเคร่งครัด ด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ


ขอบคุณที่มาโดย โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล หนองแขม , พญ. ชนัญญา ศรีหะวรรณ์ โรงพยาบาลสมิติเวช , โรงพยาบาลเพชรเวช

ขอบคุณภาพโดย lifeforstock จาก Freepik