Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

ยาฟ้าทะลายโจร สมุนไพรไทยบรรเทาอาการโควิด-19 (กลุ่มอาการไม่รุนแรง)



สมุนไพรที่มีบทบาทในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อย่าง ฟ้าทะลายโจร ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เพียงแค่บรรเทาอาการเมื่อป่วยเป็นโรคโควิด-19 ที่ไม่รุนแรง เช่น คัดจมูก มีน้ำมูก ลดโอกาสที่โรคจะลุกลามลงปอด ใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดโรครุนแรง แต่ไม่ได้ช่วยป้องกันการป่วยจากโควิด-19





นักวิจัยสนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมุนไพรฟ้าทะลายโจร โดยพบว่าสารสำคัญที่ชื่อว่า 'แอนโดรกราโฟไลด์' (Andrographolide) มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส และจากผลการวิจัยดังกล่าวทำให้มีประชาชนจำนวนมากสนใจที่จะซื้อยาฟ้าทะลายโจร นำมารับประทานเพื่อบรรเทาอาการของโควิด-19

ฟ้าทะลายโจร เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ที่ราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และ คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบใช้รักษาผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ เป็นพืชสมุนไพรรสขมที่มีการใช้กันมานานในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีสรรพคุณบรรเทาอาการของโรคหวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ

ยาฟ้าทะลายโจรที่มีจำหน่ายในประเทศไทย มี 2 รูปแบบ
1. รูปแบบผงยา นำมาบรรจุแคปซูล หรือทำเป็นยาเม็ด ซึ่งจะมีทั้งไฟเบอร์จากใบไม้และสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ที่เรียกว่า Andrographolide โดยองค์การอาหารและยา ระบุว่า ยาจากผงฟ้าทะลายโจร ควรมีความเข้มข้นของ Andrographolide ไม่ต่ำกว่า 1%
2. รูปแบบสารสกัด คือ การสกัดสาร Andrographolide ล้วน ๆ ไม่มีการเจือปนใบหรือไฟเบอร์

คุณสมบัติของฟ้าทะลายโจร ได้แก่
- ลดไข้
- ต้านการอักเสบ
- ต้านไวรัสบางชนิด เช่น หวัด และข้อมูลสิทธิบัตรของจีน ที่ระบุว่า สามารถต้าน SARS-CoV-2 ที่เป็นที่มาของโควิด-19 ได้
- กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

ผู้ที่สามารถรับประทานยาฟ้าทะลายโจรได้ ได้แก่
1. ผู้ที่มีอาการของโรคหวัด เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปในผู้ใหญ่จะแนะนำให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรที่มี Andrographolide 60 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน
2. ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง ในผู้ใหญ่แนะนำให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรที่มี Andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโควิด-19 ทุกคนควรใช้ยาฟ้าทะลายโจรภายใต้การดูแลของแพทย์

ผู้ที่ไม่ควรรับประทานยาฟ้าทะลายโจร ได้แก่
1. ผู้ที่มีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร เช่น มีผื่นลมพิษ ปากบวม หน้าบวม หายใจไม่ออก
2. หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
3. ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี และต้องการรับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากยาฟ้าทะลายโจรไม่มีฤทธิ์ที่จะยับยั้งไวรัสเข้าเซลล์ จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้

ข้อควรระวังของยาฟ้าทะลายโจร
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต หากจำเป็นต้องใช้ยาฟ้าทะลายโจร ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
- ผู้ที่รับประทานยาลดความดันโลหิต*
- ผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด* เช่น ยาวอร์ฟาริน (Warfarin)
- ผู้ที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด* เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin)

* การใช้ยาดังกล่าวร่วมกับยาฟ้าทะลายโจร อาจเสริมฤทธิ์กันได้ หากจำเป็นต้องใช้ ยาฟ้าทะลายโจร ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

แม้จะเป็นยาสมุนไพร แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้ โดยเฉพาะในเด็กโต ขนาดยาจะต่างจากผู้ใหญ่ คือ ให้ 3 – 3.5 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ส่วนเด็กที่น้ำหนักเกิน 50 กิโลกรัม ให้ใช้ขนาดยาแบบผู้ใหญ่ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็ก ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องขนาดยา

การรับประทานยาฟ้าทะลายโจรติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง หากท่านรับประทานยาฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรงขึ้น แนะนำให้หยุดใช้ และรีบปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายที่รับประทานยาฟ้าทะลายโจรอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร เวียนศีรษะ ใจสั่น ซึ่งอาการเหล่านี้เมื่อหยุดรับประทานยาฟ้าทะลายโจร อาการจะค่อย ๆ หายเป็นปกติได้ หากท่านใดที่รับประทานยาฟ้าทะลายโจรแล้วสงสัยว่าจะแพ้ยาฟ้าทะลายโจร เช่น มีผื่นลมพิษ หน้าบวม ปากบวม หายใจไม่ออก ให้หยุดรับประทานทันที แล้วรีบพบแพทย์

ยาฟ้าทะลายโจร ไม่สามารถป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ ใช้กินบรรเทาอาการเมื่อป่วยเป็นโรคโควิด-19 ที่ไม่รุนแรง ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดโรครุนแรง เช่น คัดจมูก มีน้ำมูก ลดโอกาสที่โรคจะลุกลามลงปอด ไม่ใช่กินเพื่อป้องกันโรค และหากมียารักษาโรคประจำตัว หรือรับประทานยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาอื่น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำก่อนใช้ยา



ขอบคุณที่มาโดย :
- ภก. วุฒิเชษฐ รุ่งเรือง, ฝ่ายเภสัชกรรม, โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม
- ฐานเศรษฐกิจ
- WorkpointToday

ขอบคุณภาพโดย : SHUTTER STOCK