Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

ทำความรู้จัก Thermo Hygrometer เครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้น



เครื่องมือวัดที่ถูกใช้มากในอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองการวัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่หลากหลาย มีความสำคัญมากในการทำงานขั้นตอนต่าง ๆ ที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นที่คงที่ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสินค้าได้



Thermo Hygrometer (เทอร์โมไฮโกรมิเตอร์) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจสอบอุณหภูมิและความชื้นของอากาศ วัดช่วงความชื้นและอุณหภูมิตามระดับความร้อนหรือความเย็น อุณหภูมิการควบแน่นหรือการเปลี่ยนแปลงประจุไฟฟ้า และยังสามารถเก็บข้อมูลไว้ในหน่วยความจำ แล้วทำการถ่ายโอนข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์เพื่อการวิเคราะห์โดยละเอียดเพิ่มเติมได้อีกด้วย เหมาะสำหรับห้องที่ต้องการควบคุมระดับอุณหภูมิหรือความชื้นให้คงที่ เช่น โรงพยาบาล ห้องแล็บ ห้องควบคุมอุตสาหกรรมอาหาร โกดัง คลังสินค้า ห้องคลีนรูม ห้องปฏิบัติการ ห้องแช่เย็น ห้องเก็บสารเคมี เป็นต้น

Thermo Hygrometer มีประโยชน์มากในการประเมินความเสียหายในคลังสินค้า คลังสินค้าหลายแห่งต้องมีอุณหภูมิที่แน่นอน โดยมีระดับความชื้นเฉพาะ เช่น สำหรับเก็บดอกไม้ อาหาร กระดาษ ไม้ และวัสดุอื่น ๆ ที่มีความอ่อนไหวต่อความแตกต่างของอุณหภูมิและ/หรือความชื้น จะทำให้สินค้าที่จัดเก็บได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายได้

ประเภทของ Thermo Hygrometer
1. Analog Thermo Hygrometer เครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้น หน้าจอในการวัดแบบเข็ม
2. Digital Thermo Hygrometer เครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้น หน้าจอแบบดิจิตอล แสดงผลเป็นตัวเลข


Thermo Hygrometer ที่หน้าจอแบบดิจิตอล สามารถวางบนโต๊ะ หรือ แขวนติดผนังได้ หน้าจอแสดงผลขนาดใหญ่มองเห็นตัวเลขได้ชัดเจน ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป บางรุ่นสามารถบันทึกข้อมูลได้ นำข้อมูลที่บันทึก Export ออกได้ทั้งรูปแบบ PDF / Excel และ MS Word บางรุ่นสามารถเชื่อมต่อสัญญาณ WIFI ดูข้อมูลแบบ Real Time ได้ ส่วนมากใช้วัดอุณหภูมิและความชื้นในบ้าน ห้องทดลอง ห้องเก็บสารเคมี ห้องสอบเทียบ เป็นต้น

หน่วยการวัดของ Thermo Hygrometer
• ค่าอุณหภูมิ แสดงผลเป็น องศาเซลเซียส (°C)
Calibration Laboratory สามารถสอบเทียบได้ที่ 15-45 องศาเซลเซียส (°C)
• ค่าความชื้นสัมพัทธ์ แสดงผลเป็น %RH
Calibration Laboratory สามารถสอบเทียบได้ที่ 30-90%RH

การควบคุมอุณหภูมิหรือความชื้นถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักสำหรับสถานพยาบาลต่าง ๆ แต่จะทำให้ผู้ไปใช้บริการสถานพยาบาลทราบได้อย่างไร หากไม่มีการแสดงค่าอุณหภูมิหรือความชื้นในบริเวณต่าง ๆ ให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เครื่องแสดงอุณหภูมิหรือความชื้น หรือ Thermo Hygrometer จึงถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการว่าสถานประกอบการนั้นได้มาตรฐาน

มาตรฐานการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในห้องต่าง ๆ ของ สถานพยาบาล แบ่งออกตามมาตรฐานสากล ดังนี้

ห้องผ่าตัด (OPERATING ROOM)
ห้องผ่าตัดจะต้องมีการควบคุมอุณหภูมิสามารถปรับได้ในช่วง 20-27 °C และควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ให้อยู่ในช่วง 45–55%RH ควรติดตั้งเครื่องอ่านอุณหภูมิและความชื้นให้สามารถอ่านได้สะดวก (โดยการติดตั้งควรเป็นไปตามมาตรฐาน NFPA 99, Health Care Facilities)

ห้องตรวจผู้ป่วยนอก (OPD)
ตามมาตรฐานแล้วต้องมีการแบ่งออกเป็นกลุ่ม คือ กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มของการตรวจทั่วไป โดยมีหลักการตามรายละเอียด ดังนี้
• ห้องตรวจโรคทั่วไป จะต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ 24 °C (+/-1 °C) ความชื้น 50%RH (+/-10%RH)
• ห้องตรวจโรคกลุ่มที่มีความเสี่ยง ต้องมีการป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรค จะต้องควบคุมอุณหภูมิ 24 °C (+/-1 °C) ความชื้น 50%RH (+/-10% RH) แต่ควรออกแบบให้เป็น FRESH AIR 100% ควบคุมทิศทางการไหลของอากาศจากบนสู่ล่างแบบ Non-Laminar Air Flow

ห้อง ICU
ออกแบบให้มีการควบคุมยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยการควบคุมอุณหภูมิ 24 °C (+/-1 °C) ความชื้น 50%RH (+/-10% RH) ควรมีการแยกห้องผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของเชื้อโรคให้อยู่ในโซนที่มีความดันเป็นลบน้อยกว่าห้องผู้ป่วย พร้อมระบบควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรค อากาศต้องมีทิศทางการไหลจากฝ้าเพดานสู่แนวพื้นแบบ Non-Laminar Air Flow

การใช้งาน Thermo Hygrometer
1. ควรวางไว้บริเวณที่สามารถมองเห็นได้ชัดหรือในระดับสายตา
2. แขวนเครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้น หรือ วางเครื่องไว้บนโต๊ะที่อยู่บริเวณกลางห้อง เพื่อที่จะตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นได้ถูกต้อง ไม่ควรติดไว้บริเวณประตูหรือหน้าต่างที่มีการเปิด-ปิดตลอดเวลา เพราะอุณหภูมิจะมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย อาจทำให้เครื่องมือแสดงค่าที่ผิดพลาด

วิธีการดูแลรักษา Thermo Hygrometer ก่อนและหลังใช้งาน
• หมั่นทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
• ควรถอดแบตเตอรี่ทุกครั้งหลังใช้งาน เพื่ออายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น
• ไม่ควรวางไว้ในบริเวณที่มีอุณหภูมิร้อนจัดหรือทิ้งไว้กลางแดดเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้หน้าจอเสียหาย
• ไม่ควรวางไว้ใกล้กับวัตถุไวไฟ
• ไม่ควรวางในบริเวณที่มีน้ำ
• ระวังอย่าให้เครื่องมือตกกระแทก เนื่องจากจะส่งผลให้ Sensor ที่ใช้วัดค่าเกิดความชำรุดเสียหาย
• กรณีที่ใช้ Sensor Out (External) ในการวัดค่า ควรทำความสะอาดหัว Sensor เป็นประจำเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นจับหัว Sensor ซึ่งจะส่งผลให้เครื่องมืออ่านค่าผิดพลาด
• สอบเทียบเครื่องมือวัดเป็นประจำเพื่อป้องกันการผิดพลาดของค่าที่วัดผลได้

นอกจากจะมีการใช้ไฮโกรมิเตอร์ตามสถานพยาบาล หรือ หน่วยงานต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถใช้ไฮโกรมิเตอร์ภายในบ้านได้อีกด้วย การใช้ไฮโกรมิเตอร์เพื่อวัดระดับความชื้นภายในบ้าน จะช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าต้องการลดความชื้นหรือไม่ ความชื้นระดับสูงทำให้เชื้อราเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และอาหารเน่าเสียที่เกิดจากความชื้นอาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ และเกิดผลเสียต่อสุขภาพได้

การรักษาคุณภาพของอากาศเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจมากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศในปัจจุบันมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ทำให้อากาศมีผลต่ออุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ และมีผลต่อสุขภาพของมนุษย์


ขอบคุณที่มาโดย NEONICS , SANG CHAI METER , PROTRONICS , CALIBRATION LABORATORY
ขอบคุณภาพโดย Projekt_Kaffeebart จาก PIXABAY , stux จาก PIXABAY , ron2025 จาก PIXABAY


บทความน่าสนใจ
Autoclave เครื่องฆ่าเชื้อของเสียทางชีวภาพ
การระบายอากาศของตู้เก็บสารเคมี