Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

ภาวะ Long COVID อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19



เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดกันอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก แม้ว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการกระจายวัคซีนไปยังสถานที่ต่าง ๆ และการกลายพันธุ์ของเชื้อบางสายพันธุ์อย่าง ‘โอมิครอน’ ที่แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น 2-5 เท่า แต่สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการเล็กน้อยหรือแทบไม่แสดงอาการเลย



แล้วถ้าหากเคยติดเชื้อโควิด-19 และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจนหายแล้ว แต่ยังมีอาการเหมือนที่เคยมีขณะติดเชื้อ หรือ เหนื่อย เพลีย อยู่นั้น อาจเป็นไปได้ว่ากำลังอยู่ในภาวะ Long COVID (ลองโควิด) โดยกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า สามารถพบได้ถึง 30 - 50% สาเหตุส่วนใหญ่มาจากภาวะความเครียด หรือ ผลข้างเคียงของยาที่ใช้ เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ โรคแฝง หรือ บางรายอาจติดเชื้อโควิดซ้ำแต่คนละสายพันธุ์ หรือ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เชื้อลงปอด และมีโรคเรื้อรังร่วมด้วย

ภาวะที่พบผลกระทบระยะยาวของการติดเชื้อโควิด-19 มีอยู่หลากหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น Long COVID-19 (ลองโควิด), Post-COVID-19 Syndrome, Post-COVID Condition, Long-Haul COVID, Post-Acute COVID-19 หรือ Chronic COVID นั่นคือจะมีอาการผิดปกติยาวนานกว่า 4 – 12 สัปดาห์ขึ้นไป ทั้ง ๆ ที่ตามปกติแล้วเชื้อโควิด-19 มักจะหายไปในไม่กี่สัปดาห์หลังการติดเชื้อ

ภาวะ Long COVID ในแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันไป มีตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงทำให้ร่างกายทรุดโทรม สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ตั้งแต่ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร หัวใจและหลอดเลือด และมีผลระยะยาวตั้งแต่หลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือนหลังหายจากโควิด-19 โดยอาการที่พบมากที่สุด คือ เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ สมาธิสั้น ผมร่วง หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม การรับรสชาติและการรับกลิ่นเปลี่ยนไป เจ็บหน้าอก หายใจถี่ ปวดตามข้อ ไอ ท้องร่วง กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีภาวะสมองล้า นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-Traumatic Stress Disorder)

ภาวะ Long COVID ถูกแบ่งเป็นทั้งหมด 3 ประเภท ตามลักษณะอาการ ดังนี้

1. พบอาการใหม่ หรือ อาการเดิมไม่หายไป (New or Ongoing Symptoms) คือ การที่ผู้ป่วยมีอาการยาวนานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายเดือนหลังจากติดเชื้อโควิด-19 เป็นครั้งแรก มักพบในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงตั้งแต่ต้น และทวีคูณความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อออกกำลังกายหรือใช้สมาธิจดจ่อมาก ๆ โดยมีอาการ เช่น

• เป็นไข้ ปวดหัว วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
• หายใจเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม ไอ แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
• ปวดท้อง ท้องเสีย รับประทานอาหารไม่ลง
• ปวดหู หรือ มีเสียงในหู
• ใจสั่น ขาดสมาธิ คิดอะไรไม่ออก หัวตื้อ นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน
• มีอาการชา ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
• ไม่ได้กลิ่นหรือรับรสได้ไม่ดี
• ผื่นตามตัว
• ประจำเดือนมาผิดปกติ

2. มีความผิดปกติเกี่ยวเนื่องกับอวัยวะหลายส่วนในร่างกาย (Multiorgan Effects) โดยมีสาเหตุจากปฏิกิริยาทางสรีรวิทยาที่รุนแรงอย่าง Cytokine Storm ที่ร่างกายของผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการหลั่งสารในระบบภูมิคุ้มกันกลุ่ม Cytokine ส่งผลให้เนื้อเยื่อของอวัยวะหลายส่วนถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของตัวเอง พบมากที่บริเวณเนื้อเยื่อหัวใจ ปอด ไต สมอง และผิวหนัง

หากเกิดในเด็กอาจะพบการเกิดโรค Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Associated with COVID-19 (MIS-C) ที่มีอาการโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) คือ เกิดการอักเสบในหลายอวัยวะ มีไข้สูง ผื่นขึ้น ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่ติดเชื้อโควิด-19 อยู่หรือหลังหายทันที โดยโรคนี้อาจมีผลกระทบต่อหลายอวัยวะในระยะยาวได้

3. ผลกระทบระยะยาวจากการนอนโรงพยาบาลและจากการติดเชื้อโควิด-19 มักเกิดในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีการนอนโรงพยาบาล โดยเฉพาะห้อง ICU ที่ส่งผลกระทบด้านจิตใจ อาจทำให้แขนขาไม่ค่อยมีแรงและยังคงรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่ แม้จะไม่มีเชื้อโควิดอยู่แล้ว ในบางกรณีอาจมีผลต่อเรื่องการคิดและคำพูด นำไปสู่ภาวะที่มีอาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบเหตุการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder; PTSD) เช่น การได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ หรือถูกปั๊มหัวใจในการช่วยชีวิต ส่งผลให้เกิดความเครียดฉับพลันและอาจสะสมมาอย่างต่อเนื่อง

จากการสำรวจของกรมการแพทย์ ผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยเป็นโควิด-19 ที่พบได้บ่อย มีดังนี้
• ระบบทางเดินหายใจ (44.38%) หอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง
• ระบบทางจิตใจ (32.1%) นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า
• ระบบประสาท (27.33%) อ่อนแรงเฉพาะที่เฉียบพลัน ปวดศีรษะ มึนศีรษะ หลงลืม กล้ามเนื้อลีบ
• ระบบทั่วไป (23.4%) อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ
• ระบบผิวหนัง (22.8%) ผมร่วง ผื่นแพ้
• ระบบหัวใจและหลอดเลือด (22.86%) เจ็บหน้าอก ใจสั่น

ประเมินอาการตนเองหลังติดโควิด-19
• หากมีอาการผิดปกติชัดเจน เช่น ไข้สูง ไอมาก หอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืดเป็นลม แขนขาอ่อนแรง ควรมาตรวจแยกโรคก่อนว่ามีภาวะเร่งด่วนที่ต้องดูแลรักษาทันทีหรือไม่ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย มีลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ หรือว่าอาจเป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19

• หากสังเกตว่าตนเองมีอาการผิดปกติรุนแรง เช่น อาการหายใจไม่ออกแย่ลงกว่าเดิม เริ่มมีภาวะสับสน มีปัญหาการรับรู้ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติทางกายส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง หรือ มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการได้ยิน การมองเห็น การพูด ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

• ผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบรุนแรง ต้องได้รับยาต้านไวรัส นอนโรงพยาบาลนาน ๆ ต้องได้รับออกซิเจน หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ ควรได้รับการดูแลต่อเนื่องจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจร่วมกับทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู

• ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ควรกลับเข้ามารับการประเมินสุขภาพให้ครบถ้วนอีกครั้งหนึ่ง และควรรับการรักษาโรคประจำตัวนั้นอย่างต่อเนื่อง

• ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หากรู้สึกว่ายังอ่อนเพลีย ฟื้นตัวได้ไม่เท่าเดิม อาจลองมาตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเช็คผลเลือด เอกซเรย์ปอด ค่าตับ ค่าไต ค่าสารอักเสบต่าง ๆ รวมถึงระดับวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย เพื่อวางแผนในการดูแลและฟื้นฟูตัวเองให้ร่างกายกลับมามีประสิทธิภาพดังเดิม ลดโอกาสป่วยง่าย และติดเชื้อซ้ำ

• ผู้ป่วยที่มีความเครียด อ่อนล้า มีปัญหาเรื่องการนอน สามารถติดต่อพูดคุยกับจิตแพทย์ เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ค่อย ๆ กลับมาดีดังเดิมได้

คนที่หายป่วยจากโควิด-19 ไม่ควรออกกำลังกายมากเกินไป หรือ ออกกำลังกายจนเหนื่อยเกินไป เช่น คนที่เคยวิ่งเป็นประจำ อาจปรับเป็นเดินไปก่อน เพื่อให้ปอดไม่ทำงานหนักจนเกินไป และช่วยให้ร่างกายค่อย ๆ ฟื้นตัว

ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวที่อาจเกิดจากลองโควิด ได้แก่
• กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis)
• สมองล้า (Brain Fog)
• ภาวะพร่องทางระบบประสาทอัตโนมัติ (Dysautonomia)
• ภาวะ Guillain-Barre Syndrome
• โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)
• โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)

กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Long COVID มีดังนี้
• ผู้สูงอายุ เพศหญิงมากกว่าเพศชาย ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคเบาหวาน ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

• กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก หรือ ผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ก็สามารถมีโอกาสเกิดอาการ Long COVID ได้ แต่จะไม่พบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันจากการรับวัคซีน

หลังการติดเชื้อโควิด-19 ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานตามธรรมชาติ และมักจะไม่ติดเชื้อโควิดซ้ำในช่วง 1 - 3 เดือนแรกหลังหายป่วย แต่ภูมิต้านทานจะค่อย ๆ ลดลงและไม่คงอยู่ตลอด ทำให้มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้อีก ภาวะ Long COVID อาจเกิดขึ้นและคงอยู่เป็นระยะยาวจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ยิ่งหากปล่อยไว้นานก็อาจเป็นอันตรายได้

หากมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุอย่างละเอียด และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ เช่น ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% และไม่ไปในแหล่งชุมชนแออัด หรือ สถานที่อากาศไม่ถ่ายเท


ขอบคุณที่มาโดย :
- นายแพทย์ธงชัย ฉัตรยิ่งมงคล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ [เข้าถึงเมื่อ 3 ก.พ. 2565]
- นายแพทย์กมลเดช วงศ์พรภักดี อายุรแพทย์ประจำศูนย์วัคซีน โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ [เข้าถึงเมื่อ 3 ก.พ. 2565]
- อ. พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 2021 [เข้าถึงเมื่อ 3 ก.พ. 2565]
- พญ. อรกมล อินกองงาม แพทย์ประจำศูนย์ Wellness โรงพยาบาลไทยนครินทร์ [เข้าถึงเมื่อ 3 ก.พ. 2565]
- โรงพยาบาลพญาไท [เข้าถึงเมื่อ 3 ก.พ. 2565]
- PPTVHD36 [เข้าถึงเมื่อ 3 ก.พ. 2565]

ขอบคุณภาพโดย : Business photo created by tirachardz จาก Freepik.com

อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่