Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน



การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนายังคงมีอย่างต่อเนื่อง และเชื้อไวรัสนั้นมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเชื้อกลายพันธุ์บางตัวก็สามารถกลายพันธุ์ต่อไปได้อีก จนเกิดสายพันธุ์ย่อยขึ้นเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือ เชื้อก่อโรคโควิดสายพันธุ์เดลตา ปัจจุบันมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม จนแตกแขนงออกไปเป็นสายพันธุ์ย่อยถึง 200 ชนิดด้วยกัน




ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าเดลตาถึง 4 เท่า และยังมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย ๆ ได้แก่ BA.1, BA.2, BA.3 และ B.1.1.529 โดยองค์การอนามัยโลกระบุในรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ว่า ข้อมูล DNA ของไวรัสโควิดที่ถูกส่งเข้ามาจากทั่วโลกนั้น 99% เป็นของเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1


BA.1 กลายพันธุ์เฉลี่ย 65 ตำแหน่งต่างจากอู่ฮั่น
BA.1.1 กลายพันธุ์เฉลี่ย 85 ตำแหน่งต่างจากอู่ฮั่น
BA.2 กลายพันธุ์ต่างจาก BA.1 10 ตำแหน่ง โดย 5 ตำแหน่งจะอยู่บนยีน ‘S’ ที่ควบคุมการสร้างหนามของอนุภาคไวรัส
BA.3 กลายพันธุ์เฉลี่ย 60 ตำแหน่งต่างจากอู่ฮั่น ยังไม่พบในประเทศไทย และทั่วโลกพบไม่มาก คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปในเร็ววัน


จากการศึกษาในเดนมาร์กที่มีการระบาดของ BA.1 และตามมาด้วยการระบาด BA.2 (Reinfection) จากประชากรจำนวนกว่า 1.8 ล้านคน พบว่าการติดเชื้อซ้ำด้วย BA.2 หลังจากติดเชื้อ BA.1 ครั้งแรก มีจำนวนน้อยมาก คือ ประมาณ 1 ใน 100 โดยส่วนใหญ่ (89%) เป็นเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน อายุตั้งแต่ 0 - 19 ปี ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อที่ว่าอาการของเด็กไม่รุนแรงมากเท่าผู้สูงอายุ อาจไม่ได้มีการป้องกันที่เข้มงวด และไม่ได้ฉีดวัคซีน


จากการศึกษาดังกล่าว สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยผู้ติดเชื้อซ้ำด้วย BA.2 (หลังจากหายจากการติดเชื้อ BA.1) พบว่ามีอาการไม่รุนแรงถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาล หรือ เสียชีวิต ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในประเทศไทยและทั่วโลก คือ การฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กและเยาวชน


สรุปได้ว่าการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์หลัก BA.1 ตามธรรมชาติจะสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อซ้ำจากสายพันธุ์ย่อย BA.2 ได้เป็นอย่างดี


ด้วยเหตุผลที่ว่า BA.2 ไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงต่างไปจาก BA.1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทำให้ WHO ยังยืนยันให้ BA.2 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนสายพันธุ์หลัก (BA.1) ไม่ได้มีการแยกออกมาตั้งชื่อใหม่ในกลุ่มของสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) ซึ่งปัจจุบัน VOC มีสมาชิกอยู่ 5 สายพันธุ์ ประกอบด้วย อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา และ โอมิครอน


องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่า BA.2 แพร่เร็วแค่ไหน แต่เรื่องความรุนแรง ไม่มีความแตกต่างจาก BA.1 เบื้องต้นจากข้อมูลพบว่า BA.2 จะแพร่เร็วกว่า BA.1 ถึง 1.4 เท่า หากมี 1 คนในครอบครัวติดเชื้อ BA.2 แค่ 1 คน จะสามารถแพร่ต่อให้คนในครอบครัว 39% มากกว่า BA.1 ที่แพร่ให้คนในครอบครัว 29% ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่ BA.2 จะมาแทนที่ BA.1 และในการตรวจในคนติดเชื้อกลุ่มต่าง ๆ ทั้งคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ คลัสเตอร์ต่าง ๆ คนติดเชื้อซ้ำ รวมถึงคนที่ฉีดวัคซีนครบ และพบว่าในคนที่ติดเชื้อซ้ำนั้นเป็นสายพันธุ์ BA.2 ถึง 28.57%


เชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 นั้นได้ฉายาว่าเป็นไวรัส ‘ล่องหน’ เนื่องจากไม่มีหน่วยพันธุกรรมหรือยีนที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า มันเป็นเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือเป็นเชื้อกลายพันธุ์ชนิดเดลตากันแน่ และยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 มีแหล่งกำเนิดจากไหน แต่มีการตรวจพบครั้งแรกในฐานข้อมูลพันธุกรรมไวรัสของประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564


ผู้ติดเชื้อ BA.2 จะมีผลตรวจโควิดเป็นบวกจากการใช้ชุดทดสอบ ATK หรือจากการตรวจแบบ PCR แต่ก็ไม่อาจจะทราบได้ว่าเป็นเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 หรือไม่ จนกว่าจะมีการใช้เทคนิคแบบพิเศษเข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติม


คาดว่าการระบาด BA.2 ในประเทศไทยที่กำลังเข้ามาแทนที่ BA.1 จะไม่ก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ เพราะ BA.2 ไม่สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้ที่ติดเชื้อ BA.1 และผู้ที่หายแล้ว เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันจาก BA.1 สกัดอยู่ BA.2 ไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แต่เป็นเพียงพันธุ์ย่อยของโอมิครอน สามารถป้องกันและควบคุมการเพิ่มจำนวนได้จากภูมิคุ้มกันทั้งจากการติดเชื้อตามธรรมชาติจาก BA.1 และการฉีดวัคซีน


จากข้อมูลล่าสุดพบว่า วัคซีนใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อยับยั้งโอมิครอนเป็นการเฉพาะ เมื่อนำไปทดสอบในสัตว์ทดลองพบว่าสามารถต่อต้านโอมิครอนได้ดี แต่กลับป้องกันสายพันธุ์อื่นที่เคยระบาดมาก่อนหน้า เช่น เดลตา ได้ไม่ดีนัก ดังนั้น วัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาเป็นการเฉพาะต่อโอมิครอน อาจไม่เพียงพอในการป้องกันสายพันธุ์อื่น ๆ


ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกยังไม่พบสายพันธุ์ที่ยุติการกลายพันธุ์ไปแล้ว และปัจจุบันตรวจไม่พบแล้ว (ในไทย) เช่น B, B.1, B.1.1, B.1.36.16, อัลฟา, เบตา, และ แกมมา ฯลฯ กลับมาระบาดซ้ำอีก ส่วนเดลตาบางประเทศตรวจไม่พบแล้ว ในประเทศไทยลดจำนวนลงมาก ศูนย์จีโนมฯ ตรวจพบเดลตาจำนวนไม่มากจากตัวอย่างจากเรือนจำ แต่ก็ยังประมาทไม่ได้เพราะไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคอุบัติใหม่ อุบัติขึ้นมาเพียง 2 ปีกว่า เรายังไม่มีข้อมูลมากนักเหมือนโรคอุบัติซ้ำอื่น ๆ เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสไข้เลือดออก


การระบาดใหญ่ระลอกล่าสุดของโอมิครอนบนเกาะฮ่องกง เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลีเมลของอังกฤษรายงานว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีการกลายพันธุ์ในฮ่องกง และกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อ BA.2.2 หรือ B.1.1.529.2.2 อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดในฮ่องกงสูงขึ้นอย่างมาก


ไวรัสสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 มีการกลายพันธุ์เด่นตรงตำแหน่งหนามแหลมซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 1221 โดยเปลี่ยนจาก Isoleucine เป็น Threonine หรือ ‘S:I1221T’


ทั้งนี้มีข้อมูลข่าวในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทีมีการติดตามเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัสพบเกิดการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ย่อย BA.2 ด้วยกัน 3 ตัว มีการเรียกชื่อเบื้องต้นไว้ คือ BA.2.1, BA.2.2, และ BA.2.3 ซึ่งในขณะนี้ แต่ละสายพันธุ์ย่อยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน มีรายงานแค่ตรวจพบในฮ่องกงเท่านั้น จึงยังต้องรอข้อมูลก่อนการระบุชื่อที่ชัดเจน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จากการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์เหล่านี้


ไวรัสสายพันธุ์ย่อยอาจจะยังคงถือกำเนิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หรืออาจจะมีการยุติการกลายพันธุ์หรือไม่นั้น ก็ยังต้องใช้มาตรการเฝ้าระวังอย่างที่เคยทำมา เช่น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันอาการร้ายแรงจากโควิด การสวมหน้ากากอนามัย การใช้เจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ การหลีกเหลี่ยงสถานที่แออัด และอยู่บ้านหากรู้สึกว่าไม่สบาย


ขอบคุณที่มาโดย : ฐานเศรษฐกิจ , ฐานเศรษฐกิจ , ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ , ไทยรัฐออนไลน์ , BBC NEWS , SANOOK.COM


ขอบคุณภาพโดย : Alexandra_Koch จาก Pixabay


อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่