Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

Superworms หนอนนักกำจัดพลาสติก ก้าวสำคัญของการรีไซเคิล



ทุกวันนี้ไม่ว่าร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ตามตลาดทั่วไป ยังพบเห็นการใช้งานพลาสติกกันอยู่ในชีวิตประจำวันเสมอ ไม่ว่าจะเพื่อใส่สินค้า ห่ออาหาร หรือนำมาใช้ในการผลิตสิ่งของ เป็นเพราะพลาสติกเป็นวัสดุที่มีราคาถูก และยังมีคุณสมบัติแข็งแรง ทนความร้อน น้ำหนักเบา และยังมีความเหนียว อีกทั้งทำหน้าที่เป็นฉนวนกันไฟฟ้าได้

แม้พลาสติกจะมีคุณสมบัติมากมายก็ตาม แต่เป็นหนึ่งในปัญหาขยะที่จัดการได้ยากในโลกเรา เพราะปริมาณการใช้งานที่มากเกินความจำเป็นของมนุษย์ และใช้เวลาในการย่อยสลายพลาสติกนานถึง 400 – 450 ปี และหากเป็นโฟมใช้เวลาถึง 1,000 ปีเลยทีเดียว



มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ (University of Queensland – UQ) ประเทศออสเตรเลีย ทำการวิจัยเกี่ยวกับ 'หนอนโซโฟบัส โมริโอ (Zophobas Morio) หรือ Superworms' พบว่าสามารถกัดกินและย่อยสลายพอลิสไตรีน (Polystyrene) และสไตรีน (Styrene) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทของพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วโลกได้ ด้วยเอนไซม์หลายตัวในลำไส้ของหนอนเหล่านี้ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายพลาสติกและโฟมนั่นเอง

ในการทดลองนี้นักวิทยาศาสตร์ได้แบ่ง Superworms ออกเป็น 3 กลุ่มและให้อาหารด้วยวิธีที่แตกต่างกัน ดังนี้
• กลุ่มที่ 1 ให้อาหารด้วยรำข้าว
• กลุ่มที่ 2 ให้อาหารด้วยโฟมพลาสติกพอลิสเตอรีน
• กลุ่มที่ 3 ไม่ได้ให้อาหารเลย
Superworms ทั้ง 3 กลุ่มสามารถดำเนินวงจรชีวิตไปจนเข้าสภาวะดักแด้ได้ ทั้งนี้จากการทดลองกลุ่มที่ได้รับพอลิสเตอรีนไปมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย ถึงแม้จะน้อยกว่ากลุ่มแรกที่ได้รับรำข้าวเป็นอาหารก็ตาม



นักวิจัยหวังว่าการรีไซเคิลทางชีวภาพจากหนอนโซโฟบัส โมริโอ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการรีไซเคิลขยะพลาสติกและลดพื้นที่ที่ต้องใช้กับหลุมฝังกลบขยะบนโลกเราได้ แม้ว่าการกำจัดขยะพลาสติกทั้งหมดด้วย Superworms อาจจะยังเป็นไปไม่ได้ในทันที ด้วยข้อจำกัดทั้งในด้านปริมาณของพลาสติกที่ถูกผลิตออกมา และข้อจำกัดของการเลี้ยงดู เพาะพันธุ์ตัวหนอน แต่งานวิจัยนี้ก็ได้พิสูจน์ว่าเราสามารถช่วยกันหาหนทางในการกำจัดและรีไซเคิลขยะพลาสติกได้ ดีกว่ารอให้พลาสติกย่อยสลายไปเองโดยใช้เวลา 400 – 1,000 ปีเลยทีเดียว

ปัญหาพลาสติกนี้คงไม่หมดลงไปง่าย ๆ หากไม่ช่วยกันลดปริมาณขยะ กระตุ้นจิตสำนึกในการรีไซเคิล การเลือกใช้วัสดุในการผลิตต่าง ๆ รวมถึงระบบการกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพ คงไม่ยากเกินไปที่จะเป็นส่วนร่วมในการลดพลาสติก หากเราปฏิบัติจนชินเป็นนิสัย เชื่อว่าปัญหาพลาสติกล้นโลกก็จะแก้ไขได้ไม่ช้าก็เร็ว


ขอบคุณที่มาโดย MODERN MANUFACTURING
ขอบคุณภาพโดย MICROBIOLOGY SOCEITY

บทความน่าสนใจ >> ‘อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ’ เทรนด์ใหม่มาแรง สร้างเม็ดเงินได้มหาศาล

อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่