Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

PLATIO ทางเท้าโซลาร์เซลล์ นวัตกรรมรักษ์โลกจากขยะพลาสติก



เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายคนเริ่มหันมาสนใจการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ส่วนหนึ่งเพราะมีการให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาด ประหยัดพลังงาน ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ รักษ์โลกมากยิ่งขึ้น และยังช่วยในเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าอีกด้วย

การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาหรือดาดฟ้าอาจเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่โซลาร์เซลล์ยังสามารถผลิตพลังงานสีเขียวในสถานที่จำกัด สวนสาธารณะ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงทางเท้าที่เราสามารถเดินผ่านไปมาได้อีกด้วย



PLATIO สตาร์ทอัพจากบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ได้ใช้ขยะพลาสติกเป็นส่วนประกอบของนวัตกรรมที่เรียกว่า ‘ทางเท้าที่ให้พลังงานแสงอาทิตย์’ หรือ ‘ทางเท้าโซลาร์เซลล์’ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ช่วยแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นอย่างดี เพราะแผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้ จะเพิ่มการผลิตพลังงานสีเขียวในสถานที่ที่ไม่สามารถติดตั้งแผงบนหลังคาหรือชั้นดาดฟ้าได้

แนวคิดเกี่ยวกับทางเท้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ PLATIO มาจากเพื่อนในวัยเด็ก 3 คน ร่วมกันก่อตั้งบริษัท ได้แก่ Imre Sziszák วิศวกรเครื่องกล József Cseh วิศวกรเคมี และ Miklós Ilyés สถาปนิกภูมิทัศน์และมีส่วนร่วมในการออกแบบจัตุรัสและทางเท้าในเมืองหลายแห่ง พวกเขาคิดว่า ขยะพลาสติกที่ใช้เวลานานกว่าจะย่อยสลายได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีคำถามขึ้นมาว่า “ทำไมไม่ทำพื้นปูทางเท้าจากขยะรีไซเคิล? และถ้ามีการปูพื้นผิวทางเท้าจำนวนมากในเมือง ทำไมเราไม่ใช้มัน และสร้างพลังงานไปในตัวด้วยเลยล่ะ”

ในปี 2558 นั้น PLATIO ยังเป็นเพียงแนวคิด แต่การพัฒนาก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ผู้ร่วมก่อตั้งได้ส่งแนวคิดของตนเข้าร่วมการแข่งขัน Smart City Lab ของ Design Terminal (หน่วยงานด้านนวัตกรรมชั้นนำของยุโรปกลาง) และประสบความสำเร็จ เมื่อ PLATIO เป็นสตาร์ทอัพที่ได้รับความสนใจจากผู้คนมากมาย และโดนใจนักลงทุนเอกชนที่ทุ่มเงินลงทุนในบริษัทนี้

Miklós Illyés หนึ่งในสามคนที่ร่วมกันคิดค้นไอเดียนี้ขึ้นมา บอกว่า “ผลิตภัณฑ์ของเราไม่ได้ทำขึ้นเพื่อทดแทนแผงโซลาร์เซลล์แบบเดิมที่ติดตั้งบนหลังคา แต่เป็นความพยายามเพิ่มเติมในการใช้พลังงานสะอาดในที่ที่ไม่มีแหล่งพลังงานอื่น ๆ”

PLATIO Solar Paver คือ ชื่อเต็มของนวัตกรรมนี้ เป็นบล็อกปูพื้นที่ทำมาจากวัสดุคอมโพสิตพลาสติกรีไซเคิล (ไม่ใช้วัสดุพลาสติกบริสุทธิ์) และติดตั้งเซลล์สุริยะ หรือเซลล์แสงอาทิตย์ (PV-Cells) ที่รวมเข้ากับกระจกนิรภัย ระบบไฟฟ้าของเซลล์แสงอาทิตย์ ทำงานโดยใช้แรงดันไฟฟ้า SELV (Safety Extra Low Voltage) และสายไฟที่ถูกสร้างขึ้นด้วย IP68 (ขั้วต่อสายไฟกันน้ำ) เมื่อดวงอาทิตย์แผ่รังสีผ่านกระเบื้องแก้ว จะถูกส่งไปยังเซลล์สุริยะที่แปลงรังสีนี้เป็นไฟฟ้าต่อไป

PLATIO เป็นการนำผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ มาอัดแบบพิเศษเพื่อสร้างโครงของแผงโซลาร์เซลล์นี้ และไม่มีการใช้วัสดุพลาสติกใหม่ในการผลิตแต่อย่างใด ซึ่งการใช้วัสดุและกระบวนการผลิตแบบพิเศษ ส่งผลให้โครงสร้างของเฟรมมีความทนทานสูง ทำให้มั่นใจได้ว่าการทำงาน และการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ จะปราศจากปัญหาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ

ข้อดีของวัสดุคอมโพสิต คือ มีความแข็งและอายุการใช้งานยาวนานกว่าคอนกรีต แม้ว่า High Performance Concrete (HPC) จะมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 50 ปี แต่วัสดุคอมโพสิตของ PLATIO Solar Paver มีอายุการใช้งานยาวนาน 100 ปี ทั้งยังมีแรงดึงและแรงอัดที่สูงกว่ามาก และดูดซับน้ำได้น้อยกว่าคอนกรีตมาก

PLATIO ใช้ขวดพลาสติกจำนวน 400 ขวด เพื่อสร้างทางเท้าพลังงานแสงอาทิตย์ 1 ตารางเมตร โดยระบุว่าส่วนผสมดังกล่าวทำให้นวัตกรรมพื้นผิวนี้มีความทนทานมากกว่าวัสดุอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างถนน อีกทั้งยังได้รับการปกป้องด้วยแผงกระจกที่ทนทาน กันลื่น กันขีดข่วน และกันกระแทกได้จึงสามารถรับน้ำหนักตัวของผู้คนที่เดินหรือเหยียบย่ำไปมาบนพื้นผิวแผงโซลาร์เซลล์ชนิดพิเศษนี้ได้สบาย ๆ

ทั้งนี้แผงโซลาร์เซลล์หนึ่งหน่วยของ PLATIO ให้พลังงานประมาณ 20 วัตต์ และพื้นผิวราว 20 - 30 ตารางเมตร สามารถให้พลังงานเพียงพอสำหรับบ้านในสภาพอากาศแบบฮังการี ซึ่งมีฤดูหนาวที่ชื้น และมีฤดูร้อนที่อบอุ่น (อุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูหนาว 0 ถึง -15 องศาเซลเซียส และฤดูร้อน 27 - 35 องศาเซลเซียส)

นอกจากข้อได้เปรียบทางเทคนิค เช่น ความสามารถในการขึ้นรูปและความทนทานที่สูงกว่าคอนกรีตแล้ว PLATIO ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย เพราะกระบวนการผลิตซีเมนต์ทุก 1 ตัน จะเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 1 ตัน ซึ่งทั้งหมดนี้คิดเป็นประมาณ 7% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลก ขณะที่ PLATIO ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรเท่านั้น

ปัจจุบัน PLATIO รีไซเคิลพลาสติกไปแล้ว 32 ตัน ติดตั้งทางเท้าโซลาร์เซลล์ไปแล้ว 2,500 ตารางเมตร ผลิตกระแสไฟฟ้าไปแล้ว 44,000 กิโลวัตต์ และมีตัวแทนจำหน่ายใน 37 ประเทศ


ทำไม PLATIO ถึงเป็นนวัตกรรมรักษ์โลกที่น่าจับตา ?

• PLATIO เป็นโซลูชันที่ประหยัดพื้นที่ เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมอย่างกลมกลืน โดยไม่ต้องใช้พื้นที่อันมีค่าอื่น ๆ เพิ่มเติม

• ใช้วัสดุรีไซเคิล ปูทางไปสู่สภาพแวดล้อมในเมืองที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยเจตนารมณ์ของการลดขยะ เครื่องปูผิวทางที่มาในรูปแบบของแผงโซลาร์เซลล์นี้ทำมาจากพลาสติกและแก้วรีไซเคิล รวมถึงวัสดุเหลือใช้อื่น ๆ

• ออกแบบตามหลักการรักษ์โลกและมีดีไซน์สวยงาม สนับสนุนเมือง อาคาร และบ้านเรือนให้กลายเป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนในศตวรรษที่ 21

• ดูแลรักษาง่าย การบำรุงรักษาคล้ายกับทางเท้าทั่วไป และยังดูแลรักษาง่ายกว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคา

• ติดตั้งง่ายและรวดเร็ว ด้วยการออกแบบโมดูลาร์ การติดตั้งจึงเหมือนกับการปูกระเบื้องแบบเดิม

• ความทนทาน ความทนทานสูงต่อการบรรทุก การกระแทก รอยขีดข่วน สภาพอากาศ แต่ไม่เหมาะสำหรับถนน นอกจากจะทำเป็นทางเท้าแล้ว ยังเหมาะสำหรับสวนสาธารณะ สวนบนดาดฟ้า หรือสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

• ความปลอดภัย ใช้แรงดันไฟต่ำ และมีระดับการต้านทานการลื่นสูง

• ประสิทธิภาพ ผลิตพลังงานสีเขียวที่นำไปใช้ได้จริง โดยรังสีดวงอาทิตย์จะแผ่รังสีผ่านกระเบื้องแก้ว และไปถึงเซลล์สุริยะที่แปลงรังสีเป็นไฟฟ้า เมื่อพื้นผิวปนเปื้อนด้วยสารมลพิษที่เกิดขึ้น อย่างเช่น ฝุ่น การสูญเสียประสิทธิภาพจะอยู่ที่ประมาณ 3 - 7% เท่านั้น

• เศรษฐกิจหมุนเวียน PLATIO นี้ได้รับการออกแบบให้รีไซเคิลได้ 95% เมื่อสิ้นสุดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์


ขอบคุณที่มาและภาพโดย คุณอรรถสิทธิ์ เหมือนมาตย์ จาก SALIKA.CO. นวัตกรรมรักษ์โลกแบบคูณสองจากฮังการี เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็น “ทางเท้าโซลาร์เซลล์” [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 2 ส.ค. 2565]