Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

TeleMedicine พบแพทย์ออนไลน์ ดูแลสุขภาพในยุคดิจิทัล



สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะโรคอุบัติใหม่ อย่างโควิด-19 เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดบริการทางการแพทย์ในรูปแบบใหม่มาใช้ในการรักษา อีกทั้งยังเป็นการยกระดับบริการทางการแพทย์ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เกิดเป็นบริการระบบสุขภาพวิถีใหม่ ที่เรียกว่า Telemedicine (โทรเวชกรรม) หรือ ระบบแพทย์ทางไกล

โรงพยาบาล ในประเทศไทยเริ่มนำมาปรับใช้กับการรักษา โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อการรักษามากยิ่งขึ้น เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในเรื่องของการเดินทาง ประหยัดเวลาในการรอคิว ลดโอกาสที่ผู้ป่วยต้องออกจากบ้าน และลดจำนวนคนภายในโรงพยาบาล



Telemedicine คือ เทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-Time เช่น การพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ การสื่อสารผ่านระบบ Video Call หรือ Video Conference ที่สามารถมองเห็นหน้าและสนทนากันได้ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลแค่ไหนก็สามารถพบแพทย์ได้ เทคโนโลยีนี้แพทย์สามารถช่วยในการรักษา วินิจฉัยโรค และให้คำปรึกษากับผู้ป่วยจากทางไกลได้

Telemedicine หรือ การแพทย์ทางไกล ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) หมายถึง การจัดให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกล โดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรค รวมถึงการศึกษาวิจัย และเพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษาต่อเนื่องของบุคลากรทางการแพทย์

Telemedicine จะใช้วิธีการผ่านเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านระบบ Video Conference ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงการใช้สื่อมัลติมีเดียและนําไปสู่การสร้างแอปพลิเคชันใหม่ทางการแพทย์ การรับและการส่งต่อข้อมูลด้านการแพทย์ เช่น ภาพเอกซเรย์ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ภาพถ่าย หรือคลิปวิดีโอ รวมถึงข้อมูลประวัติผู้ป่วยจากเวชระเบียนไปให้แพทย์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษา

ปัจจุบัน Telemedicine ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในอำนวยความสะดวกระหว่างแพทย์ บุคลากร และผู้ป่วย ได้หลากหลายรูปแบบวิธีการ ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้

1. การให้คำปรึกษา และติดตามผลการรักษา
แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญสามารถวินิจฉัยสุขภาพ โดยการพูดคุยและสอบถามอาการผู้ป่วย ผ่าน Video Conference เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยเสมือนผู้ป่วยได้เข้ามาพบแพทย์ด้วยตนเอง ซึ่งส่วนมากจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเบื้องต้นที่ไม่รุนแรง เช่น เป็นไข้ ปวดท้อง ปวดหัว มีผื่นคัน เป็นต้น รวมถึงผู้ป่วยที่มีการนัดหมายเพื่อติดตาม และสอบถามอาการ หรือผู้ป่วยที่รับประทานยาต่อเนื่อง อย่างกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ โดยที่ไม่ต้องเดินทางเข้ามาโรงพยาบาล

2. การเฝ้าระวังดูแลสุขภาพผู้ป่วยถึงที่บ้าน
มีการนำอุปกรณ์ตรวจวัดต่าง ๆ ไปติดตั้งหรือใช้งานที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น Digital Device อย่าง สมาร์ตวอช หรือ สมาร์ตโฟน เพื่อวัดและเก็บข้อมูลสัญญาณชีพ และเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพเข้ากับระบบของโรงพยาบาล

หากสัญญาณชีพที่ส่งมามีความผิดปกติ ผู้เชี่ยวชาญจะแจ้งให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาทันที โดยวิธีการเหล่านี้สามารถช่วยผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่อาจมีอาการเฉียบพลันเมื่อใดก็ได้ อาทิ ความดันโลหิตสูงในระดับอันตราย หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ โดยอาจส่งทีมแพทย์เข้าไปรักษา ให้ได้รับความปลอดภัย และมั่นใจยิ่งขึ้น เหมือนมีบุคลากรทางการแพทย์คอยช่วยเฝ้าสังเกตการณ์ด้านสุขภาพตลอด 24 ชั่วโมง และจัดส่ง ยา ตามแพทย์สั่งให้คนไข้ถึงบ้านอีกด้วย

3. การให้ข้อมูลสุขภาพหรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรค
ผู้ป่วยสามารถปรึกษาออนไลน์กับผู้เชี่ยวชาญได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น การให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิต การติดตามอาการและผลการรักษาของผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัด โดยผ่าน Application ของโรงพยาบาล ซึ่งข้อมูลที่มีการสอบถามเข้ามาจะถูกเก็บบันทึกเพื่อสร้างฐานข้อมูลอัจฉริยะในการให้บริการต่อไปในอนาคตอีกด้วย

4. การเรียนรู้ทางการแพทย์ผ่านคลังข้อมูลออนไลน์
ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกเก็บรักษาอย่างเป็นระบบ ใน Data Center ขนาดใหญ่ ที่วางแผนไว้เพื่อเป็น Digital Health Center ของประเทศไทยเพื่อให้ผู้ใช้สืบค้น หรือเผยแพร่ข้อมูลความรู้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ และเผยแพร่ความรู้สำหรับแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญที่สำคัญในอนาคต


Telemedicine ดีอย่างไร ?

• ปรึกษาแพทย์จากที่ไหนก็ได้ การใช้เทคโนโลยีในการพบแพทย์ ทำให้ข้อจำกัดเรื่องสถานที่หมดไป ผู้ป่วยสามารถปรึกษาและพูดคุยกับแพทย์จากสถานที่ใดก็ได้ เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สะดวกเดินทาง อยู่ไกลจากสถานพยาบาล พื้นที่ชนบท พื้นที่ห่างไกล หรือผู้ป่วยในโรคเรื้อรังที่อาการหนัก

• ลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง บางครั้งปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ก็ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือ ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลในตัวจังหวัด รวมถึงค่าใช้จ่ายแฝงอื่น ๆ เช่น ค่าอาหาร เป็นต้น

• เข้าถึงแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญได้อย่างรวดเร็ว โดยผ่านระบบวีดีโอคอล หรือระบบต่าง ๆ จะช่วยให้การรักษาทำได้โดยทันทีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

• สามารถนัดแพทย์ได้ตามเวลาที่สะดวก ผู้ป่วยสามารถทำการนัดเวลากับแพทย์เพื่อพูดคุย ปรึกษา โดยไม่ต้องเสียเวลาในการทำงานหรือการใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ

• รับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนตัดสินใจไปโรงพยาบาล หากไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลจะช่วยให้ผู้ป่วยไม่เสียเวลาและสามารถทำการรักษาได้เลยในขณะนั้น หรือ กรณีที่ผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลมาแล้ว แต่ยังมีข้อสงสัยใด ๆ การกลับไปโรงพยาบาลเพื่อรับคำปรึกษาอีกครั้งอาจเป็นเรื่องยุ่งยาก การใช้ Telemedicine จะทำให้ง่ายขึ้น

• ช่วยให้ติดตามผลดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ แพทย์สามารถตรวจและติดตามผลผู้ป่วยได้จากระยะไกล เพื่อสำรวจอาการ ตอบคำถามต่าง ๆ รวมถึงหากมีข้อปฏิบัติต่าง ๆ ปลีกย่อยเพิ่มเติมในผู้ป่วยเรื้อรังก็สามารถให้คำปรึกษาได้ และจะนำมาซึ่งการดูแลรักษาที่ดีขึ้น

• ลดความแออัดของสถานพยาบาล การรอคอยที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน ๆ อีกทั้งพื้นที่ของโรงพยาบาลบางแห่งอาจมีจำกัด การใช้ Telemedicine ช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยและญาติที่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลได้

• ยกระดับมาตรฐานการให้บริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริการทางด้านการแพทย์ การติดตามผล การจัดการข้อมูล ให้มีความถูกต้อง แม่นยํา มีประสิทธิภาพมากขึ้น

• แลกเปลี่ยนความรู้ทางการแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ คำแนะนำ ให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ เป็น KNOW-HOW ทางการแพทย์


ความแตกต่างระหว่าง Telemedicine และ Telehealth
• Telemedicine เป็นการพบแพทย์ทางไกล และได้รับคำปรึกษา คำแนะนำ จากแพทย์เท่านั้น
• Telehealth เป็นการดูแลสุขภาพทางไกล และได้รับคำปรึกษา คำแนะนำ จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพ

Telemedicine ทางเลือกสำหรับบริการทางการแพทย์ยุคใหม่ ช่วยเสริมประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานระบบบริการสุขภาพ ถึงแม้อาจจะมีข้อจำกัดในการรักษา และยังไม่สามารถใช้กับทุกโรคทุกอาการได้ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการให้คำปรึกษา ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ไปในคราวเดียวกัน



ขอบคุณที่มาโดย : ธนาคารกรุงเทพ , Great Eastern Drug Co., Ltd. , Health Me Now, See Doctor Now Co., Ltd.
ขอบคุณภาพโดย : Covid temperature photo created by Drazen Zigic - Freepik.com

บทความน่าสนใจ : Digital Healthcare เทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์

อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่