Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

‘โดรน’ เทคโนโลยีขนส่งอุปกรณ์การแพทย์ฉุกเฉิน เข้าถึงได้ทุกที่



ในปัจจุบันนอกจากจะนำโดรนมาใช้ถ่ายภาพมุมสูงแล้ว ยังมีการนำโดรนมาใช้กันอย่างแพร่หลายในด้านขนส่งมากขึ้น ถือว่าเป็นอากาศยานไร้คนขับที่มีประสิทธิภาพสูงในการขนส่ง บางประเทศมีการนำโดรนมาใช้ในการขนส่งทางการแพทย์ เช่น การส่งเลือดให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับการรักษาแบบเร่งด่วน หรือผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางที่ต้องการถ่ายเลือดอย่างเร่งด่วน นั่นหมายความว่า โดรนเป็นเครื่องมือที่ช่วยร่นระยะเวลาในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้เร็วขึ้น



โดรนขนส่งยาและเวชภัณฑ์จาก Zipline

Zipline (ซิปไลน์) จากสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นในปี 2011 โดย เคลเลอร์ รีนาอูโด หนุ่มชาวอเมริกันดีกรี MBA จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เล็งเห็นปัญหาว่า แม้ปัจจุบันทั่วโลกจะมีธุรกิจและบริการต่าง ๆ ทางด้านการแพทย์อยู่มากมาย แต่การให้บริการรักษาทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงนั้นกลับเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด เนื่องจากการขนส่งทางภาคพื้นดินเพื่อส่งเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลนั้นทำได้อย่างลำบาก มีต้นทุนสูง และทำได้ช้า ซึ่งปัญหาเบื้องหลังที่ใหญ่ที่สุด คือ คุณภาพของถนน อย่างเช่น ช่วงฤดูฝนที่ถนนหลายสายถูกตัดขาด ทำให้ต้นทุนการขนส่งเวชภัณฑ์สูงขึ้น

ระบบการทำงานของ Zipline คือ เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ส่งใบคำสั่งซื้อทางอีเมล หรือ SMS จะมีทีมงาน Zipline จัดเตรียมเวชภัณฑ์และนำส่งทันทีด้วยโดรนบังคับ ซึ่งจะบินด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ไปถึงได้เร็วกว่าและราคาถูกกว่าการขนส่งด้วยวิธีอื่น โดยสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้ภายใน 15-35 นาที ด้วยความรวดเร็วนี้ยังทำให้ไม่ต้องมีระบบรักษาความเย็นที่มีต้นทุนมหาศาลอีกด้วย

อัตราค่าขนส่งของ Zipline คือ เที่ยวละ 15-45 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 500–1,500 บาท) ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก ความฉุกเฉิน ระยะทาง และมูลค่าของเวชภัณฑ์ โดยเฉลี่ยแล้วต้นทุนถูกกว่าการขนส่งทางบกราว 20% ขณะที่ส่งได้เร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 20 เท่า

โดรนของ Zipline จะมีระบบติดตามที่ทำให้สามารถค้นหาเส้นทางที่ดีที่สุด และติดตามการขนส่งจนกว่าจะสำเร็จ เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ยาและเวชภัณฑ์ที่สั่งจะถูกถ่ายลงจากโดรนด้วยร่มชูชีพขนาดเล็ก และลงถึงพื้นที่ของโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำ

ปัจจุบัน Zipline ได้ร่วมมือกับรัฐบาลรวันดาขนส่งเวชภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ โลหิต และวัคซีน ไปยังโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์จำนวน 20 แห่งทั่วประเทศ เพื่อขนส่งยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ในกรณีฉุกเฉิน เป็นการย่นระยะเวลาการรักษาให้เร็วขึ้นสำหรับชาวรวันดานับล้านคน อีกทั้ง ยังได้ร่วมกับมูลนิธิ UPS และองค์กรพันธมิตรโลกเพื่อวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรค หรือ GAVI เพื่อศึกษาแนวทางการใช้โดรนบังคับเพื่อจัดส่งเวชภัณฑ์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก


โดรนนำส่งอวัยวะสำหรับการปลูกถ่ายจากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัย Maryland

ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (University of Maryland Medical Center - UMMC) ในบัลติมอร์ สหรัฐอเมริกา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์และโรงพยาบาลเซนต์แอกเนส ได้นำโดรนขึ้นบินทดสอบนำส่งอวัยวะสำหรับการปลูกถ่ายไตเป็นครั้งแรกของโลก

โดรนลำดังกล่าวถูกออกแบบขึ้นมาพิเศษพร้อมติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการมอนิเตอร์อวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายตลอดการขนส่งโดยเฉพาะ ประกอบไปด้วยกล้อง อุปกรณ์ติดตาม อุปกรณ์สื่อสาร ระบบความปลอดภัยพิเศษสำหรับการบิน ซึ่งใช้เวลาในการนำส่งถึงปลายทางเพียงแค่ 10 นาที ก่อนจะนำไตจากผู้บริจาคไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยหญิงวัย 44 ปีที่มีอาการภาวะไตวาย และการทดลองในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับการปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วยที่ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

นายแพทย์โจเซฟ สกาเลีย (Joseph Scalea) หนึ่งในทีมแพทย์ผู้ผ่าตัดได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จที่เกิดขึ้นของการทดลองในครั้งนี้ ทั้งยังกล่าวอีกด้วยว่า การใช้โดรนเพื่อนำส่งอวัยวะสำหรับการปลูกถ่ายในผู้ป่วยถือเป็นประโยชน์และความก้าวหน้าในวงการการแพทย์ ที่ช่วยลดข้อจำกัดด้านการจัดส่งที่ล่าช้าในอดีตได้เป็นอย่างมาก และเชื่อว่าจะสามารถเดินทางได้ไกลขึ้นที่ระยะทางประมาณ 50-160 กิโลเมตร

“ระยะทางในการนำโดรนบินอาจจะไม่สำคัญสักเท่าไร แต่สิ่งสำคัญ คือ เราสามารถใช้เทคโนโลยีของโดรนมาประยุกต์เข้ากับระบบการปลูกถ่ายอวัยวะและการลำเลียงส่งในปัจจุบันได้”

จากการทดลองหลายตัวอย่างที่ได้นำโดรนมาใช้กับทางการแพทย์ก็มั่นใจได้ว่าโซลูชันเหล่านี้มีความยั่งยืนสามารถให้บริการผู้คนที่อยู่ห่างไกลได้ และระยะเวลาของการขนส่งนั้นมีผลต่อโอกาสการอยู่รอดของผู้ป่วย ดังนั้น การนำโดรนมาใช้ในทางการแพทย์ อาจยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้


ขอบคุณที่มาโดย :
- ปณชัย อารีเพิ่มพร. THE STANDARD
- เทลเลอร์. BUS & TRUCK
- ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน. คณะนิติศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์. กรุงเทพธุรกิจ
- ASEAN Insight. กรุงเทพธุรกิจ

ขอบคุณภาพโดย SHUTTERSTOCK


อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่