Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เทคโนโลยีที่ช่วยให้แผลเล็กและฟื้นตัวภายใน 1 วัน!!



ปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ถูกพัฒนามากขึ้น เพื่อให้เข้ามาเป็นตัวช่วยแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย หนึ่งในนั้น คือ หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด นับเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เป็นตัวช่วยแพทย์ในการผ่าตัดในบริเวณที่ชับซ้อนและเข้าถึงได้ยาก ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง และลดอาการข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อน



ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการผ่าตัดก็คือทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่มีการสั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน แต่การใช้หุ่นยนต์ที่มีความแม่นยำและละเอียดอ่อนสูง ซึ่งต้องมีการนำเทคโนโลยีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกล้อง 3 มิติ 3D Vision แขนกลพร้อมอุปกรณ์ที่มีความยืดหยุ่นในการควบคุมและขยับไปมา ระบบซอฟต์แวร์ และคอนโซลในการควบคุมมาเป็นส่วนประกอบในการทำงาน เทคโนโลยีเหล่านี้ต่างก็เป็นอีกหนึ่งในส่วนสำคัญที่จะมาช่วยเพิ่มโอกาสในการผ่าตัดให้สำเร็จไปด้วยเช่นกัน

การนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ช่วยในการผ่าตัด ทำให้กระบวนการผ่าตัดที่มีความสลับซับซ้อนหรืออยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงยากทำได้อย่างแม่นยำ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ลดระยะเวลาพักฟื้นหลังจากการผ่าตัดได้มาก จากปกติแล้วหลังการผ่าตัดในแต่ละครั้ง ผู้ป่วยอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 วันในการพักฟื้นและรอดูอาการที่โรงพยาบาล แต่การใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยผ่าตัดผู้ป่วยอยู่รอดูอาการอย่างน้อยเพียงแค่ 1 คืนเท่านั้นในโรงพยาบาล และยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัดอีกด้วย

ปัจจุบันมีการใช้งานหุ่นยนต์ในการผ่าตัดต่อมลูกหมากเกิดขึ้นแล้วกว่า 3,000 ครั้ง ซึ่งในแต่ละเคสก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และช่วยแก้ปัญหาจำนวนการใช้เตียงในโรงพยาบาลให้ลดลงได้เป็นอย่างดีจากการที่ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวและกลับบ้านได้เร็วขึ้นหลังเสร็จสิ้นการผ่าตัด


ตัวอย่างเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

• ‘หุ่นยนต์ดาวินชี’ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

• โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นำแขนกลช่วยผ่าตัดเข้ามาเป็นตัวช่วยในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากเช่นกัน

• ศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ใช้หุ่นยนต์ช่วยอย่างครอบคลุมหลายระบบอวัยวะ เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร, โรคระบบตับ น้ำดี ตับอ่อน, โรคระบบทางเดินปัสสาวะ, โรคทางนรีเวช, โรคทางระบบหายใจ, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม และการผ่าตัดกระดูกสันหลัง

• ศูนย์ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์โรงพยาบาลราชวิถี รองรับการผ่าตัดรักษาที่ซับซ้อนหลายระบบ เช่น โรคในระบบทางเดินปัสสาวะ, โรคระบบโสต ศอ นาสิก, โรคมะเร็งตับ และลำไส้ใหญ่, โรคในระบบหัวใจและทรวงอก


หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสามารถช่วยผ่าตัดโรคใดได้บ้าง ?
• โรคระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น เนื้องอกหรือมะเร็งที่ไต, ต่อมหมวกไต, ท่อไต, กระเพาะปัสสาวะ, ต่อมลูกหมาก
• โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น เนื้องอกหรือมะเร็งหลอดอาหาร, กระเพาะอาหาร, ลำไส้เล็ก, ลำไส้ใหญ่, ทวารหนัก
• โรคระบบตับ น้ำดี ตับอ่อน เช่น เนื้องอกหรือมะเร็งตับ, ตับอ่อน, ถุงน้ำดี นิ่วในถุงน้ำดี
• โรคทางนรีเวช เช่น เนื้องอกหรือมะเร็งรังไข่, มดลูก, ท่อนำไข่, การผ่าตัดเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่, ภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน
• โรคระบบทางเดินหายใจและทรวงอก เช่น เนื้องอกหรือมะเร็งปอด, ผนังทรวงอก
• โรคระบบหัวใจ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด
• โรคระบบหู คอ จมูก เช่น การผ่าตัดต่อมไทรอยด์
• การผ่าตัดอื่น ๆ เช่น การผ่าตัดลดน้ำหนัก การผ่าตัดรักษาโรคกรดไหลย้อน ม้าม

การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วยทุกราย แพทย์จะพิจารณาถึงความเหมาะสมและอธิบายถึงความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล


ข้อดีของการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
• การผ่าตัดมีความแม่นยำและปลอดภัย แพทย์สามารถมองเห็นภาพอวัยวะภายในได้อย่างชัดเจนผ่านหน้าจอ 3 มิติและสามารถขยายได้ใหญ่ขึ้นถึง 10 เท่า
• แขนกลหุ่นยนต์เลียนแบบการหมุนของมือมนุษย์ สามารถเคลื่อนไหวโค้งงอและหมุนได้อย่างอิสระ ทำให้เข้าถึงตำแหน่งที่เข้าถึงยากและมีความซับซ้อน
• ลดภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัด ทำให้คุณภาพชีวิตหลังการผ่าตัดดีขึ้น
• ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยและฟื้นตัวเร็วขึ้น เนื่องจากแผลผ่าตัดขนาดเล็ก และยังลดความเสี่ยงการติดเชื้อของแผลผ่าตัด


การพัฒนาเทคโนโลยีระบบต่าง ๆ ของหุ่นยนต์ให้เกิดความก้าวหน้าขึ้นนั้น ทำให้หุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและในอาชีพของมนุษย์ได้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ในอนาคตอาจมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผ่าตัดจากทางไกลผ่านอุปกรณ์สื่อสาร โดยมีหุ่นยนต์ทำหน้าที่ผ่าตัดและควบคุมผ่านคอมพิวเตอร์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และหุ่นยนต์จะเป็นสมาร์ตแมชชีนที่เข้าใจคำสั่งและเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์มากขึ้น


ขอบคุณที่มาโดย :
- กรุงเทพธุรกิจ
- ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์, อ.นพ.วิศัลย์ อนุตระกูลชัย ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ. SRIPHAT MEDICAL CENTER
- BUMRUNGRAD INTERNATIONAL HOSPITAL
- JIRAPAT R. MODERN MANUFACTURING

ขอบคุณภาพโดย : Image by macrovector on Freepik

บทความน่าสนใจ :
ผ่าตัดผ่านกล้องด้วยหุ่นยนต์ โดยไม่มีมนุษย์ช่วยเป็นครั้งแรก
หุ่นยนต์ปูจิ๋ว เล็กที่สุดในโลก อนาคตผู้ช่วยหมอ
Vicarious Surgical เทคโนโลยีการผ่าตัดช่องท้องด้วยหุ่นยนต์เฉพาะทาง

อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่