Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

ยกระดับ CARVER หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ สู่การเป็น Smart Hospital



เทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักร อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร นวัตกรรมทางการเกษตร การบริการทางการแพทย์ รวมไปถึงเครื่องมือในการขนส่งต่าง ๆ โดยเฉพาะในยุคของการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้หุ่นยนต์ยิ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระของแพทย์ พยาบาล ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี



หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ CARVER ได้รับการพัฒนาคิดค้นเพื่อขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยหุ่นยนต์สามารถทำหน้าที่ขนส่งและบรรจุถาดได้มากถึง 20 ถาด/ครั้ง และยังมีฟังก์ชันฟอกอากาศ และฆ่าเชื้อไวรัสผ่านอุปกรณ์ Hydroxyl Generator ตลอดการปฏิบัติงาน ทำให้ช่วยลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และลดความเสี่ยงในการติดเชื้ออีกด้วย

ศูนย์วิจัยระบบอัตโนมัติภายในโรงพยาบาล (HAC, Hospital Automation Research Center) สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO, Institute of Field Robotics) ต่อยอดนวัตกรรม หุ่นยนต์ ‘CARVER Mini’ ที่เคยนำไปใช้ในโรงพยาบาลสนาม ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สู่การพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติในชุด ‘CARVER-AMR’ ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยศาสตร์ของโลจิสติกส์ เพื่อยกเครื่องระบบโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลแบบครบวงจร

โดยร่วมมือกับศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม (GMI) มจธ. มาวิจัยโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลทั้งระบบ เพื่อออกแบบ โซลูชันโลจิสติกส์ และหุ่นยนต์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ปัญหา และความต้องการของแต่ละโรงพยาบาล

เป้าหมายของการพัฒนาหุ่นยนต์ CARVER-AMR คือ ลดความผิดพลาด ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มขีดความสามารถด้านบริการ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่รวดเร็วและลดความแออัด นำไปสู่การสร้าง Smart Hospital ด้วยโซลูชันที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละโรงพยาบาล และใช้ประโยชน์ได้จริง

ปัจจุบันหุ่นยนต์ CARVER-AMR กำลังทดสอบอยู่ในโรงพยาบาล 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ผศ.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยระบบอัตโนมัติภายในโรงพยาบาล (HAC@FIBO) และหัวหน้าทีมผู้พัฒนาหุ่นยนต์ CARVER กล่าวว่า หุ่นยนต์ CARVER น่าจะมาช่วยเรื่องการขนส่ง เพื่อลดภาระของบุคลากรได้ การใช้หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติในโรงพยาบาลจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับงาน 3 ปัจจัยหลัก ๆ คือ งานที่สกปรก งานที่อันตราย และงานที่ทำซ้ำ ๆ

ตัวอย่างจากการนำหุ่นยนต์ CARVER Mini ไปใช้ในโรงพยาบาลสนามเพื่อดูแลผู้ช่วยโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นการนำไปใช้ในกิจกรรมที่เสี่ยงต่อโรค สกปรก และอันตราย ขณะเดียวกันการขนส่งอาหารและยา ก็เป็นกิจกรรมที่ทำซ้ำ ๆ และต้องทำวันละหลาย ๆ รอบ จึงเหมาะสมกับการนำหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้าไปใช้งาน

การพัฒนาหุ่นยนต์ CARVER-AMR เป็นการใช้งานเพื่อเสริมศักยภาพทั้งระบบของโรงพยาบาล เป้าหมาย คือ ยกระดับโรงพยาบาลไทยให้เป็น Smart Hospital โลจิสติกส์จึงเข้ามามีบทบาทในการออกแบบการเคลื่อนที่ของสรรพสิ่งทั้งระบบในโรงพยาบาลเพื่อลดความสูญเปล่า ใช้ประโยชน์จากความสามารถของบุคลากรได้อย่างเต็มที่ และเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานด้วยหุ่นยนต์

นอกจากนี้ ยังช่วยในการจัดระบบ จัดคิว จัดกำลังคนให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วย การทำงานของโรงพยาบาลก็จะดีขึ้น เร็วขึ้น เวลาที่ผู้ป่วยรอคอยภายในโรงพยาบาลก็จะลดลง ประสิทธิภาพการรักษาของแพทย์ก็จะดีขึ้น



ขอบคุณที่มาโดย : กรุงเทพธุรกิจ , National Innovation Agency (Public Organization) - NIA , Siamrath

ขอบคุณภาพโดย : กรุงเทพธุรกิจ

บทความน่าสนใจ : ‘โดรน’ เทคโนโลยีขนส่งอุปกรณ์การแพทย์ฉุกเฉิน เข้าถึงได้ทุกที่

อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่