Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

RoboCap แคปซูลหุ่นยนต์ช่วยนำส่งยาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น



การทานยาเม็ดหรือการรับยาผ่านทางเดินอาหารตั้งแต่ช่องปากนั้น ไม่อาจนำส่งตัวยาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนที่มีขนาดใหญ่ไม่สามารถผ่านเมือกที่คอยปกป้องทางเดินอาหารอยู่ได้ นั่นหมายความว่าตัวยาอย่างอินซูลิน หรือยาที่ผลิตขึ้นโดยใช้เทคนิคทางเทคโนโลยีชีวภาพที่มีส่วนประกอบของโปรตีนส่วนใหญ่อาจทำงานไม่ได้ผลเมื่อต้องทานเข้าไป ทำให้ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อฉีดยาเข้ากระแสเลือด นักวิจัยจึงพยายามคิดค้นวิธีที่จะส่งยาเข้าไปยังเป้าหมายในร่างกาย



นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์ ในสหรัฐอเมริกา หรือ MIT ได้พัฒนาแคปซูลหุ่นยนต์ที่ทำให้สามารถนำส่งโปรตีนที่มีขนาดใหญ่ผ่านเมือกที่คอยเคลือบอวัยวะอย่างลำไส้เล็กและเข้าไปสู่เซลล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แตกต่างจากการดูดซึมแบบเดิมที่ต้องมีการสูญเสียคุณค่าไปก่อนที่จะเข้าสู่ระบบลำเลียงสารอาหารตามหลอดเลือด

แคปซูลหุ่นยนต์นำส่งยานี้มีชื่อว่า ‘โรโบแคป (RoboCap)’ ขนาดประมาณ แคปซูลอาหารเสริมอย่างวิตามินรวม ภายในแคปซูลจะบรรจุยาไว้ในช่องขนาดเล็กที่ปลายด้านหนึ่ง แคปซูลเคลือบด้วยเจลาตินที่สามารถปรับให้ละลายได้ที่ค่าพีเอช (pH) เฉพาะ เมื่อสารเคลือบละลาย การเปลี่ยนแปลงของค่า pH จะกระตุ้นมอเตอร์ขนาดเล็กภายในแคปซูลให้เริ่มหมุน การเคลื่อนไหวนี้ช่วยให้แคปซูลเจาะเข้าไปในเมือกและขับเคลื่อนผ่านออกไป นอกจากนี้แคปซูลยังเคลือบด้วยปุ่มเล็ก ๆ ที่ช่วยขจัดเสมหะ คล้ายกับการใช้แปรงสีฟัน อีกทั้งการเคลื่อนที่แบบหมุนยังช่วยแกะช่องที่บรรจุยาให้ค่อย ๆ ปล่อยออกสู่ทางเดินอาหาร

จากการทดลองในสัตว์ พวกเขาพบว่าแคปซูลหุ่นยนต์ขจัดเมือกนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการนำส่งยาได้มากถึง 20-40 เท่าเลยทีเดียว โดยไม่เกิดการระคายเคืองหรือการอักเสบเลย ส่วนชั้นเมือกที่หายไปก็ไม่ได้จะหายไปอย่างถาวร เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง ก็จะกลับมาเคลือบผิวได้อย่างสมบูรณ์เหมือนเดิมอีกครั้ง

ทางทีมนักวิจัย MIT คาดว่านวัตกรรมการนำส่งยาของโรโบแคปจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และหวังว่าจะได้เห็นโรโบแคปรักษาโรคกระเพาะหรือโรคเบาหวานออกมาช่วยวงการแพทย์ได้ในอนาคต


ขอบคุณที่มา : ดร. ป๋วย อุ่นใจ จาก MatichonWeekly , Thos จาก MODERN MANUFACTURING , MIT , THAIRATH

ขอบคุณภาพจาก : MIT


บทความน่าสนใจ : หุ่นยนต์ปูจิ๋ว เล็กที่สุดในโลก อนาคตผู้ช่วยหมอ

อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่