Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

CAR T–Cell เทคโนโลยีแปลงเม็ดเลือดขาวให้กำจัดเซลล์มะเร็ง



“การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” ยังคงเป็นคำพูดที่ไม่ล้าสมัย เพราะอาการป่วยนั้นไม่ว่าจะน้อยหรือมากก็คงไม่อยากให้เกิดกับใครก็ตาม และโรคบางอย่างก็ยากต่อการรักษา เช่น โรคมะเร็ง ซึ่งมีหลากหลายชนิดที่แตกต่างกัน ปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามามีบทบาททางการแพทย์เป็นอย่างมาก นอกจากใช้ยารักษา ผ่าตัด ฉายรังสี ยังมีการพัฒนาโดยใช้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำลายเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย



วิธีการรักษามะเร็งรูปแบบหนึ่งโดยใช้เซลล์ในร่างกายกำจัดเซลล์มะเร็ง นั่นคือ CAR T–Cell โดยคำว่า CAR ย่อมาจาก ‘Chimeric Antigen Receptor’ ที่มีความหมายว่า ตัวรับแอนติเจนที่มีพันธุกรรมดัดแปลง ขณะที่ T-Cell คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีความสามารถในการกำจัดสิ่งแปลกปลอม เซลล์ติดเชื้อโรค หรือเซลล์มะเร็งนั่นเอง ดังนั้น CAR T–Cell ก็คือ การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดแบบเซลล์บำบัดที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด

การรักษามะเร็งด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาว หรือ CAR T–Cell นั้นสามารถทำได้โดยเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยมาแยกเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟซัยต์ (Lymphocytes) ซึ่งเป็นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเพื่อผ่านกระบวนการพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) ให้มีความสามารถในการจับโปรตีน (Antigen) บนผิวของเซลล์มะเร็ง โดยเพิ่มจำนวนให้มากขึ้นและทำให้แข็งแรง ก่อนจะฉีดกลับในร่างกายผู้ป่วย เมื่อ T-Cell เจอกับเซลล์มะเร็ง จะสามารถจดจำและทำลายเซลล์มะเร็งจำเพาะเหล่านั้นได้ และ CAR T-Cell จะเจริญเติบโตแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอยู่ในร่างกายทำให้สามารถควบคุมเซลล์มะเร็ง และป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้อีกด้วย

เทคโนโลยีนี้มีจุดเด่น คือ มี ‘ความจำเพาะ’ กับเซลล์มะเร็งสูงมาก แทบไม่ทำอันตรายเซลล์ปกติเลย CAR T-Cell จำเพาะกับผู้ป่วยแต่ละรายเท่านั้น จึงไม่ทำให้เกิดภาวะ Autoimmunity หรือ ‘ภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง’ จึงมีความปลอดภัยสูง ต่างกับวิธีการรักษามะเร็งส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่

กลไกหลักของภูมิคุ้มกัน คือ เม็ดเลือดขาวต้องรู้ก่อนว่าเซลล์กลายพันธุ์นั้นคือมะเร็งที่ต้องกำจัด ถ้าในร่างกายมีจำนวนเม็ดเลือดขาวเยอะ แต่โดนปิดกั้นการทำงานอยู่ ก็ให้ใช้วิธีการฉีดแอนติบอดีเข้าไปกระตุ้นการทำงาน แต่ถ้าเป็นมะเร็งบางชนิดที่กลายพันธุ์ แล้วส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดขาวมีน้อย วิธีรักษาแบบ Car T-Cell หรือวัคซีน จะช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว และให้ประสิทธิภาพการรักษาได้ตรงจุดมากกว่า

ในต่างประเทศมีการใช้เทคโนโลยีนี้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดชนิด B-Cell ซึ่งได้ผลดี มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ US FDA ให้ใช้จริงในผู้ป่วยแล้ว เช่น ทิสซาเจนเลกลูเซล (Tisagenlecleucel) ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งได้ แต่สำหรับมะเร็งชนิดที่เป็นก้อนเนื้อแข็ง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนัง ยังได้ผลไม่ดีมากนัก

ทางด้าน ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกัน บำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ผลที่ดีมาก โดยเฉพาะกับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด B-Cell ที่มีการแสดงออกของ CD19 ทั้งยังพบว่าให้ผลที่ดีอย่างน่าอัศจรรย์กับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานที่มีอยู่ในขณะนี้อีกด้วย

การวิจัยและการพัฒนาวิธีการรักษาโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อาจตอบสนองต่อโรคที่ต่างกันไป หรือบางครั้งก็ช่วยเสริมประสิทธิภาพ และทำให้ผลลัพธ์ของการรักษาดีขึ้น สามารถทำให้หลายโรคที่เคยเป็นโรคไม่มีวันรักษาหาย กลายเป็นโรคที่มีหวัง และสามารถรักษาให้ขาดได้ การค้นพบวิธีการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดนี้เป็นการเตรียมพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูงต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน


ขอบคุณที่มา :
- กัญญาภัค ทิศศรี. 10 เทคโนโลยีพลิกโฉม “ธุรกิจไทยยุค New Normal. กรุงเทพธุรกิจ [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 18 ต.ค. 2565]
- กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ. ภูมิคุ้มกันบำบัดมีกี่แบบ. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 18 ต.ค. 2565]
- ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) มหาวิทยาลัยมหิดล. ม.มหิดล เตรียมผลักดันเทคโนโลยีใหม่ T-cells รักษามะเร็ง สู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูง. นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช. [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 18 ต.ค. 2565]
- บอกเล่า ก้าวทันหมอ. กลุ่มวิจัยภูมิคุ้มกันด้านเซลล์บำบัดมะเร็ง. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย [อินเทอร์เน็ต]. 2562 [เข้าถึงเมื่อ 18 ต.ค. 2565]
- Techsauce Team. ม.มหิดล ต่อยอดวิจัยรักษามะเร็งในเด็กด้วยเทคโนโลยี CAR T-Cell ให้หายขาด. TechSauce Knowledge Sharing Platform [อินเทอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 18 ต.ค. 2565]

ขอบคุณภาพจาก : Rawpixel.com on Freepik


บทความน่าสนใจ : ระบบภูมิคุ้มกันบำบัด เทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนวงการแพทย์

อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่