Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

ลดอุบัติเหตุจากสารเคมีในห้องปฏิบัติการ ด้วยการจัดกลุ่มเก็บสารเคมี



การทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีแทบทุกชนิดมักมีอันตรายแอบแฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการติดไฟ การกัดกร่อน พิษของสารเคมี ไปจนถึงการระเบิด อุบัติเหตุจากสารเคมีในห้องปฏิบัติการอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน การจัดเก็บสารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัยจึงเป็นการลดอันตรายที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมได้



ในห้องปฏิบัติการจะมี สารเคมี หลากหลายชนิด แต่จะมีปริมาณในแต่ละชนิดที่น้อย การจัดเก็บสารเคมีตามความเข้ากันได้ของสารเคมีจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อให้สามารถควบคุมอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. การจัดเก็บสารเคมีตามประเภทความเป็นอันตราย เช่น สารไวไฟ สารออกซิไดซ์ สารระเบิดได้ เป็นต้น

2. สารเคมีที่เข้ากันไม่ได้ (Incompatible Chemicals) จะต้องถูกเก็บแยกให้ห่างออกจากกัน เช่น สารออกซิไดซ์กับสารไวไฟ กรดกับเบส สารออกซิไดซ์กับสารรีดิวซ์ เป็นต้น

3. สารเคมีที่มีความเป็นอันตรายแบบเฉียบพลันและรุนแรง ต้องถูกเก็บแยกออกจากสารเคมีในกลุ่มอื่น ๆ เช่น สารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง สารที่ให้ก๊าซไวไฟเมื่อสัมผัสกับน้ำ สารพิษที่มีอันตรายสูง เป็นต้น


ข้อแนะนำในการจัดเก็บสารเคมีในห้องปฏิบัติการ
1. จัดเก็บสารเคมีตามข้อแนะนำในเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารในหัวข้อเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
      • การขนถ่าย การเคลื่อนย้าย และการจัดเก็บ (Handling and Storage) แสดงข้อมูลข้อควรระวังในการเก็บรักษาสารเคมี
      • ความเสถียรและความไวต่อปฏิกิริยา แสดงข้อมูลในเรื่องสารที่เข้ากันไม่ได้ (Incompatible materials)
2. จัดเก็บสารเคมีตามข้อแนะนำในคู่มือการจำแนกประเภทวัตถุอันตรายเพื่อการเก็บรักษา ตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ (พ.ศ. 2556-2560)
3. ไม่จัดเก็บสารเคมีให้สัมผัสความร้อนหรือแสงแดดโดยตรง
4. วางสารเคมีไว้บนภาชนะรองรับ (Secondary Container) ที่มีสมบัติเฉื่อย สามารถกักเก็บสารเคมีได้ทั้งหมดในกรณีที่สารเคมีเกิดหกรั่วไหล
5. ไม่จัดเก็บสารเคมีไว้ในระดับที่สูงเกินกว่าระดับสายตา
6. จัดเก็บสารเคมีที่มีขนาดใหญ่และหนักบนชั้นวางที่มีระดับต่ำ
7. ไม่เก็บสารเคมีไว้ในตู้ดูดควันอย่างถาวร
8. ไม่วางขวดสารเคมีซ้อนกันตามแนวตั้ง
9. ไม่วางสารเคมีไว้บนทางเดินหรือวางบนพื้น ควรเก็บในพื้นที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะ
10. สารเคมีที่ต้องจัดเก็บในพื้นที่เย็น เช่น ตู้เย็น ต้องสามารถกันการระเบิดได้ (Explosion-Proof) ได้


กรณีที่สารเคมีมีลักษณะอันตรายเฉพาะ เช่น สารไวไฟ สารที่ว่องไวในการเกิดปฏิกิริยา สารกัดกร่อน ให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำเพิ่มเติม ดังนี้

การจัดเก็บของเหลวไวไฟและของเหลวติดไฟ
• เก็บให้ห่างจากสารออกซิไดซ์ เช่น กรดไนตริก กรดโครมิก เปอร์มังกาเนต คลอเรต เปอร์คลอเรต และเปอร์ออกไซด์ เป็นต้น
• เก็บให้ห่างจากความร้อน และแหล่งก่อให้เกิดประกายไฟ
• ควบคุมปริมาณของเหลวไวไฟและของเหลวติดไฟ
• ถ้ามีสารไวไฟและสารติดไฟในปริมาณมาก ควรเก็บในตู้เก็บสารไวไฟโดยเฉพาะ
• เก็บ ตัวทำละลาย ที่มีจุดเดือดต่ำในที่ที่มีการถ่ายเทอากาศ ไม่ควรให้โดนแสงแดดโดยตรง

การจัดเก็บสารที่ว่องไวในการเกิดปฏิกิริยา
สารที่ว่องไวในการเกิดปฏิกิริยา เช่น สารระเบิดได้ สารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง สารให้ก๊าซไวไฟเมื่อสัมผัสกับน้ำ สารออกซิไดซ์และสารรีดิวซ์ที่มีความรุนแรง เป็นต้น
• จัดเก็บสารตามข้อแนะนำในเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสาร
• จัดเก็บสารในปริมาณน้อย
• จัดเก็บสารออกซิไดซ์ แยกออกจากสารรีดิวซ์ สารไวไฟ และสารติดไฟ
• จัดเก็บสารรีดิวซ์ที่รุนแรง แยกออกจากสารที่ถูกรีดิวซ์ได้ง่าย
• จัดเก็บสารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง แยกออกจากสารไวไฟ
• เก็บสารที่ให้ก๊าซไวไฟเมื่อสัมผัสกับน้ำ ให้ห่างจากระบบดับเพลิงแบบสปริงเกลอร์ หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ

การจัดเก็บสารกัดกร่อน
• จัดเก็บสารกัดกร่อนประเภทกรดแยกออกจากเบส
• ควรจัดเก็บในตู้เก็บสารกัดกร่อนโดยเฉพาะ
• ไม่เก็บสารกัดกร่อนไวในตู้ที่ทำจากโลหะ
• จัดเก็บกรดที่เข้ากันไม่ได้แยกออกจากกัน เช่น แยกกรดไนตริกออกจากกรดไฮโดรคลอริก
• จัดเก็บกรดอินทรีย์ไว้รวมกับสารไวไฟและสารติดไฟ


นอกจากนี้ ควรมีการจัดทำ สารบบสารเคมี (Chemical Inventory) เพื่อบริหารจัดการข้อมูลสารเคมี รวมทั้งการใช้งานสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ อัปเดตข้อมูลของสารบบสารเคมีให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ตัวอย่างของข้อมูลที่ควรบันทึกลงในสารบบสารเคมี ได้แก่ ชื่อสารเคมี หมายเลข CAS ของสารเคมี ประเภทความเป็นอันตราย ปริมาณของสารเคมี ภาชนะบรรจุสารเคมี สถานที่จัดเก็บ วันที่รับสารเคมี วันที่หมดอายุ วันที่เปิดใช้งานสารเคมี ราคา ผู้รับผิดชอบ เป็นต้น



ขอบคุณที่มา : ดร. องอาจ ธเนศนิตย์ ศูนย์ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สสปท กระทรวงแรงงาน. จัดเก็บสารเคมีในห้องปฏิบัติการอย่างไร เพื่อให้เกิดความปลอดภัย [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 27 ต.ค. 2565]

ขอบคุณภาพ : Freepik


บทความน่าสนใจ :
- มาทำความรู้จัก… ตู้ปลอดเชื้อ (BSC) กัน
- การระบายอากาศของตู้เก็บสารเคมี

อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่