Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

ช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ด้วยรถ Mobile Stroke Unit



เพียงแค่ 270 นาที (4 ชั่วโมง 30 นาที) นับตั้งแต่ที่ผู้ป่วยมีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาด้านใดด้านหนึ่งอ่อนแรง จนถึงมือแพทย์และได้รับการฉีดยาสลายลิ่มเลือด คือ ‘นาทีทอง’ ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเพื่อลดโอกาสพิการและเสียชีวิต



ที่ผ่านมายังมีผู้ป่วยหลายรายต้องกลายเป็น ‘ผู้พิการ’ หรือ ‘เสียชีวิต’ ด้วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (Stroke) ทีมปฏิบัติการหน่วยรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเคลื่อนที่ หรือ รถโมบายสโตรคยูนิต (Mobile Stroke Unit) ของมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยงานชั้นนำด้านการแพทย์และวิศวกรรมระดับสากล กับเครือข่ายพันธมิตร เช่น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ 1669 และหน่วยงานต่าง ๆ จากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียม โดยเปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2561

การปฏิบัติการของทีมมีระยะเวลาปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยเวลาเฉลี่ยที่ ‘28 นาที’ ซึ่งเร็วกว่าระยะเวลาเฉลี่ยที่โรงพยาบาลทั่วไปทำได้ คือ 40 – 50 นาทีตามแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้ลดโอกาสความพิการและเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้มาก ข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรชัย ชันยากร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพกระบวนงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้จัดการโครงการฝ่ายวิศวกรรมประจำโครงการ Mobile Stroke Unit มหาวิทยาลัยมหิดล

Mobile Stroke Unit มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบไปด้วยรถ Mobile Stroke Unit ระบบสื่อสารการแพทย์ทางไกล ระบบอำนวยการปฏิบัติการ ระบบบริหารสารสนเทศทางการแพทย์ และระบบการฝึกบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบกับ กระบวนการพัฒนา ทดสอบ และควบคุมอย่างต่อเนื่องและมีมาตรฐาน ได้รับการออกแบบโดยนำเทคโนโลยีทางวิศวกรรมชั้นสูง ควบคู่กับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย และระบบการสื่อสารแบบ 5G ที่สามารถปฏิบัติการอย่างมีเสถียรภาพ

โดยตัวรถได้รับการรับรองความปลอดภัยทางด้านรังสี ด้านการขนส่ง และด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้รับการทดสอบทางวิศวกรรมที่สูงกว่ามาตรฐาน เพื่อให้ตัวรถมีความปลอดภัย และพร้อมใช้งานสูงสุดตลอดอายุการใช้งาน

ข้อมูลที่สำคัญของผู้ป่วยสามารถส่งต่อผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบไว้อย่างรวดเร็ว ทีมวิศวกรสามารถอ่านค่าจากระบบเซนเซอร์ต่าง ๆ จากตัวรถ เพื่อช่วยให้รถมีความพร้อมให้การรักษาฉุกเฉินผ่านระบบการแพทย์ทางไกลได้ทันที รองรับการออกปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รถโมบายสโตรคยูนิต มีให้บริการประชาชนอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพและปริมณฑลที่โรงพยาบาลศิริราช, ภาคตะวันตก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จังหวัดราชบุรี, ภาคใต้ โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ภาคเหนือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย, ภาคอีสาน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จังหวัดนครพนม และมีแผนในปี 2566 จะขยายหน่วยปฏิบัติการไปยัง จังหวัดน่าน และจังหวัดชุมพร

ปัจจุบัน มีการพัฒนารถรุ่นใหม่อย่าง ‘รถรักษาโรคหลอดเลือดสมอง รุ่น MSU-SOS 2023’ (Mobile Stroke Unit -Stroke One Stop) โดยใช้ระบบสื่อสารทางการแพทย์ชั้นสูง รองรับการสื่อสารแบบ 5G Multiple Bands การประมวลผลแบบ Edge Computing และ AI on Cloud สามารถส่งข้อมูลผู้ป่วยและภาพหลอดเลือดสมองที่รวดเร็ว รองรับ CT 16 Slices ที่ได้การรับรองมาตรฐานเพื่อติดตั้งบนรถ ตลอดจนออกแบบระบบเพื่อลดภาระงานในสภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้กระบวนการรักษาดูแลผู้ป่วยแบบ Door-to-Needle ใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น ! เรียกได้ว่า ‘สแกน รักษา ส่งต่อ ครบจบที่เดียว’

หากท่านมีอาการบ่งชี้ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เช่น ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด อ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่งกระทันหัน รีบโทรแจ้ง ‘1669’ เพื่อขอรับการช่วยเหลือจากทีม ‘Mobile Stroke Unit’ ที่พร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง


ขอบคุณที่มาและภาพโดย : คุณฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช. , คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


บทความน่าสนใจ : TeleMedicine พบแพทย์ออนไลน์ ดูแลสุขภาพในยุคดิจิทัล

อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่