Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

'ThalPred' โปรแกรมช่วยวินิจฉัยโรคโลหิตจางจากพันธุกรรม 'ธาลัสซีเมีย'



โรคเลือดจากพันธุกรรม หรือ 'ธาลัสซีเมีย' เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการสร้างฮีโมโกลบินซึ่งเป็นสารสำคัญของเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะเลือดจาง มีอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่ไม่มีอาการ จนถึงรุนแรงแบบที่จำเป็นต้องได้รับเลือด ปัจจุบันพบคนไทยเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย ประมาณร้อยละ 30 – 40 หรือประมาณ 20 ล้านคน และมีผู้ป่วยกว่า 5 แสนราย

ผู้ที่เป็น 'ธาลัสซีเมีย' แบ่งตามอาการได้ 2 ชนิด ดังนี้
• ชนิดแสดงอาการ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย ตัวซีด อ่อนเพลีย อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ บางรายอาจมีอาการเจริญเติบโตช้าผิดปกติ โครงสร้างใบหน้าผิดปกติ
• ชนิดไม่แสดงอาการ หรือ ผู้ที่เป็นพาหะ หรือมียีนแฝง จะไม่มีอาการใด ๆ และอาจไม่ทราบได้หากไม่ได้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม



ทีมนักวิจัยและนักศึกษาของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาโปรแกรม 'ThalPred' (Thalassemia Prediction) เป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยตรวจคัดกรองโรคเลือดจากพันธุกรรม 'ธาลัสซีเมีย' เพื่อให้คนไทยเข้าถึงการคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข ส่งผลกระทบเชิงลึกต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

ThalPred เข้ามามีส่วนช่วยให้แพทย์ตัดสินใจ และวางแผนการวินิจฉัยเบื้องต้น พร้อมเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แม่นยำ ลดภาระงานของนักเทคนิคการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการตรวจวินิจฉัย เพื่อการรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.พรลดา นุชน้อย ศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรม ทีมนักวิจัย และนักศึกษาของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เทคโนโลยี AI ที่ใช้ในการช่วยวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมียเป็นการใช้ 'Machine Learning' หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถเรียนรู้ จดจำรูปแบบข้อมูลของผู้ป่วย คำนวณ วิเคราะห์ สร้างอัลกอริธึม (Algorithm) ที่เหมาะสม ทำให้เกิดการตัดสินใจได้เหมือนหรือดีกว่ามนุษย์

การตรวจ 'ภาวะซีด' หรือที่เรียกว่า การตรวจ CBC (Complete Blood Count) เป็นการตรวจเพื่อดูความสมบูรณ์ของเลือด ซึ่งก็คือการตรวจพื้นฐานที่บรรจุอยู่ในโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปีทั่วไป โดยประกอบด้วยการตรวจเพื่อดูพารามิเตอร์ต่าง ๆ เช่น จำนวนและรูปร่างของเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (Hematocrit หรือ Hct) ปริมาณฮีโมโกลบิน (Hemoglobin หรือ Hb) ซึ่งมีประโยชน์ช่วยค้นหาสัญญาณความผิดปกติของร่างกายเพื่อการป้องกันและรักษาโรค

'ค่าพารามิเตอร์' ที่ได้จากการตรวจ CBC สามารถนำไปกรอกในโปรแกรม 'ThalPred' โดยจะใช้พารามิเตอร์ ดังนี้
1. จำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดง (RBC)
2. ปริมาณฮีโมโกลบิน (Hb)
3. ปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (Hct)
4. ค่าเฉลี่ยขนาดของเม็ดเลือดแดง (MCV)
5. ค่าเฉลี่ยฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง (MCH)
6. ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง (MCHC)

โรคธาลัสซีเมียสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem Cells) ซึ่งมีราคาสูงและค่อนข้างเสี่ยงมาก นอกจากนั้นก็เป็นเพียงการรักษาเพื่อประคับประคองอาการ เช่น การให้เลือดหรือทานวิตามิน

หากมีภาวะซีดหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคธาลัสซีเมีย ควรเข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย และหากวางแผนที่จะมีบุตรควรตรวจเลือดหายีนธาลัสซีเมียก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กที่เกิดมาเป็นโรคธาลัสซีเมีย

ผู้ที่สนใจศึกษาโปรแกรม ThalPred เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคโรคเลือดจากพันธุกรรมหรือธาลัสซีเมีย ด้วยระบบ AI โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ http://codes.bio/thalpred



ขอบคุณที่มาโดย : ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป. นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช. , Raksa Content Team. Doctor Raksa

ขอบคุณภาพโดย : ThalPred , Studio4rt on Freepik


อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่