Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

RFID แหล่งข้อมูลสำคัญทางการแพทย์ ช่วยติดตามอุปกรณ์โรงพยาบาล



ในยุคที่เทคโนโลยีต่าง ๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างมากมายเพื่อตอบสนองและอำนวยความสะดวกสบายในทุก ๆ ด้าน อีกทั้งยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ หนึ่งในเทคโนโลยีที่ใกล้ตัวเรามาก พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น บัตรประชาชน บัตร ATM ฉลากของสินค้า สิ่งเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า อาร์เอฟไอดี (RFID)



‘เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี’ หรือ RFID (Radio Frequency Identification) คือ เทคโนโลยีที่ใช้คลื่นวิทยุในการระบุเอกลักษณ์ สามารถอ่านข้อมูลได้ทันที เพื่อตรวจสอบ ติดตาม และบันทึกข้อมูลที่ติดอยู่กับป้าย ในกรณีที่เป็นฉลากสินค้า RFID ก็จะถูกนำมาใช้ในการเก็บบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลผู้ผลิต วันที่ผลิต ส่วนประกอบ ตำแหน่งของสินค้า โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการสัมผัสหรือต้องเห็นของสิ่งนั้น เพียงแค่ใช้เครื่องอ่านที่สื่อสารกับป้ายด้วยคลื่นวิทยุในการอ่านและเขียนข้อมูล


RFID มี 3 องค์ประกอบหลัก ดังนี้

1. ป้าย (RFID Tag, Transponder-Responder) ประกอบด้วย เสาอากาศ และตัวไมโครชิป เสาอากาศจะทำหน้าที่รับส่งสัญญาณคลื่นวิทยุระหว่างป้าย (RFID Tag) กับเครื่องอ่าน (Reader) ป้าย RFID Tag ที่เห็นกันบ่อย ๆ เช่น ป้ายที่ติดสินค้ากันขโมยในห้างสรรพสินค้า และเหรียญกลมสีดำสำหรับแตะผ่านเพื่อเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น

2. เครื่องอ่านป้าย (Reader, Interrogator) มีหน้าที่ในการเชื่อมต่อกับป้าย (RFID Tag) เพื่อทำการอ่านหรือเขียนข้อมูลลงในป้ายโดยใช้สัญญาณวิทยุ ซึ่งภายในเครื่องอ่านประกอบด้วย เสาอากาศ เพื่อใช้รับ-ส่งสัญญาณ สัญญาณวิทยุ ภาครับ-ภาคส่ง วงจรควบคุม การอ่าน-เขียนข้อมูล และส่วนที่ติดต่อกับคอมพิวเตอร์ เครื่องอ่านจะมีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น เครื่องอ่านบาร์โค้ด และเครื่องอ่านบัตรสแกนเวลาเข้าทำงาน เป็นต้น

3. ระบบที่ใช้ประมวลผล (Hardware) เป็นส่วนที่จะทำการประมวลผลข้อมูลที่ได้มาจากป้าย (RFID Tag) หรือจะสร้างข้อมูลเพื่อส่งไปยังป้าย และเป็นที่เก็บระบบฐานข้อมูลอีกด้วย เช่น ระบบคลังสินค้า ระบบขนส่ง และระบบการบริหารจัดการทรัพยากร


การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี RFID ทางการแพทย์
RFID นำไปประยุกต์ใช้ทางการแพทย์อย่างแพร่หลายและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกามีการใช้เทคโนโลยีฝังชิ้นส่วนของไมโครชิพที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ขนาดเท่ากับ ‘เมล็ดข้าว’ โดยที่ทำงานด้วยระบบ RFID ฉีดเข้าไปฝังตัวใต้ผิวหนังของผู้ป่วยเพื่อช่วยเก็บข้อมูลทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลกรุ๊ปเลือด ข้อมูลการเกิดภูมิแพ้ ข้อมูลลักษณะเฉพาะของผู้ป่วยแต่ละบุคคล เพื่อให้แพทย์ช่วยรักษาและวินิจฉัยให้ตรงกับโรคได้มากที่สุด

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี Blockchain Card ซึ่งเป็นบัตรที่บันทึกและแชร์ข้อมูลประวัติของผู้ป่วยในการให้ข้อมูลกับทางโรงพยาบาล ช่วยเพิ่มความสะดวกในการรักษากรณีที่โยกย้ายการรักษาไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ทันได้ตั้งตัว และ สายรัดข้อมือผู้ป่วย (Patient Wristband) ที่สามารถยืนยันสถานะ การรักษา และติดตามขั้นตอนการตรวจรักษา ตั้งแต่เข้ามาลงทะเบียนจนกระทั่งเดินทางกลับบ้าน โดยเชื่อมต่อเข้ากับระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาลเอง เพื่อให้เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ขั้นตอน หรือปรับปรุงการบริการ ในการอำนวยความสะดวกทั้งผู้ป่วย ผู้เข้าใช้บริการ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย


การใช้ RFID ติดตามอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงพยาบาล
เมื่อปริมาณผู้ป่วยที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลอยู่ในระดับสูง การทำให้ Workflow ของโรงพยาบาลดีขึ้น คือ การติดตามและจัดการอุปกรณ์ให้ดีขึ้น การใช้เทคโนโลยี RFID ติดตามอุปกรณ์จะช่วยลดเวลาในการหาสินค้าและเพิ่มเวลาในการช่วยและรักษาชีวิตคนมากขึ้น

เมื่ออุปกรณ์ติดป้าย RFID และเชื่อมต่อกับระบบตรวจสอบแบบเรียลไทม์โรงพยาบาล พนักงานก็จะสามารถค้นหาอุปกรณ์ที่ใกล้ที่สุดได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่สำคัญ ช่วยให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสามารถค้นหาและดูสภาพอุปกรณ์ที่ต้องการได้ทันที แท็ก RFID ช่วยให้สามารถสแกนอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลืองได้ทั้งก่อนและหลังการใช้งาน หลังจากใช้แล้วก็จะสามารถบันทึกตำแหน่งและเงื่อนไขการจัดเก็บเพื่อให้บุคคลต่อไปที่ต้องการชิ้นส่วนอุปกรณ์ดังกล่าวทราบถึงตำแหน่งหรือการทำงานของชิ้นส่วนนั้นได้ทันที อีกทั้งยังมั่นใจได้ว่าอุปกรณ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้รับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อก่อนที่จะถูกส่งกลับไปยังสินค้าคงคลังอีกด้วย

ในห้องผ่าตัดนั้นมีอุปกรณ์เครื่องมืออยู่มากมายหลายชิ้น ซึ่งการเก็บรักษาต้องมีค่าใช้จ่ายและกำลังคน รวมถึงต้องเอาไปทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ หรือ เก็บไว้เยอะ ๆ ก็จะทำให้ค้นหามาใช้ยาก เกิดความสับสนเวลาต้องการใช้ ไปจนถึงเกิดการสูญหาย มหาวิทยาลัย Duke จึงมีแนวคิดใช้ RFID ในการประเมินว่าแพทย์ต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้าง และใช้เป็นเวลานานขนาดไหน โดยจะได้รับการตรวจสอบและยืนยันโดยศัลยแพทย์ก่อน และข้อมูลนี้จะถูกนำไปปรับปรุงการจัดการเครื่องมือผ่าตัดของโรงพยาบาลต่อไป จากการทดสอบในการผ่าตัดหลากหลายประเภทพบว่า เครื่องมือผ่าตัด 43.8% – 59.7% จากที่เตรียมไว้ มีการใช้งาน จึงได้ปรับลดปริมาณการใช้เครื่องมือลง 50.8% และทดสอบติดตามในการผ่าตัดครั้งต่อไป พบว่าเครื่องมือที่มีการเตรียมไว้ ได้รับการใช้งานทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่า เวลาที่ใช้ในการเตรียมเครื่องมือของการผ่าตัดเต้านม ลดลงจาก 23 นาที ลงเหลือ 17 นาที ภายหลังปรับปริมาณเครื่องมืออีกด้วย


เทคโนโลยี RFID ทางเกษตรกรรมและปศุสัตว์
ฟาร์มบางแห่งในประเทศไทยนำเทคโนโลยี RFID มาใช้ในการเลี้ยงสุกร เพื่อให้สุกรไม่อ้วนหรือผอมเกินไป ให้มีขนาดมาตรฐาน โดยการนำซอฟต์แวร์ Porcode Management System จากประเทศเนเธอร์แลนด์ มาใช้ร่วมกับเทคโนโลยี RFID เพื่อควบคุมเครื่องให้อาหารสำหรับแม่หมู ระบบจะควบคุมเครื่องให้ปล่อยอาหารตามปริมาณที่เหมาะสมกับแม่หมูแต่ละตัว โดยที่ระบบนี้ประกอบด้วย แถบ RFID สำหรับระบุหมายเลขประจำตัวของแม่หมูซึ่งจะติดไว้ที่หูของแม่หมู และเครื่องอ่าน RFID จะติดอยู่ที่ผนังบริเวณจุดให้อาหารทำหน้าที่รับสัญญาณจากแถบ RFID ทำให้รู้ว่าแม่หมูที่เข้ามากินอาหารเป็นแม่หมูหมายเลขใด ควรให้อาหารปริมาณเท่าไร ในกรณีเดียวกัน การเลี้ยงฟาร์มวัว ฟาร์มกุ้ง ก็นำเทคโนโลยี RFID ไปใช้ได้เช่นกัน


ระบบติดตามการขนส่งด้วย RFID
เริ่มจาก Original Station หรือ สถานีต้นทาง เช่น โรงงานผู้ผลิต ผู้ใช้งานจะนำ RFID Tag ติดไว้ที่รถขนส่ง เมื่อรถขนส่งวิ่งผ่านจุดตรวจสอบ (Check Point) ที่มีการติดตั้งเครื่องอ่าน RFID ไว้ เช่น ประตูทางเข้า-ออก เครื่องอ่านจะบันทึกข้อมูลของรถ เวลาการเข้า–ออก แล้วส่งต่อไปสู่ระบบหลักเพื่อการทำงานร่วมกับระบบประมวลผลอื่น ๆ เช่น ERP (Enterprise Resource Planning) โดยอัตโนมัติ เมื่อรถขนส่งวิ่งไปตามจุดต่าง ๆ เช่น Distribution Station (สถานีกระจายสินค้า) Shipping Station (สถานีปลายทาง) หรือจุดตรวจสอบอื่น ๆ ที่วางตำแหน่งไว้ ข้อมูลรถ เวลาการเข้า–ออก ก็จะถูกส่งมาที่ระบบหลักโดยอัตโนมัติเช่นกัน กรณีที่ต้องการติดตามรถขนส่งระหว่างทางก็สามารถเพิ่มระบบติดตามยานพาหนะด้วย GPS เพื่อติดตามตำแหน่งของรถและอัปเดตข้อมูลผ่าน GPRS ได้ตลอดเวลากรณีที่ต้องการยืนยันการรับส่งสินค้า อีกทั้งยังสามารถเพิ่ม RFID Mobile Reader เพื่อยืนยันการรับส่งสินค้าขึ้นรถ และอัปเดตข้อมูลต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายที่จุดตรวจสอบหรือผ่าน GPRS ไปยังระบบหลักเพื่อความรวดเร็วและถูกต้อง


RFID เป็นเทคโนโลยีคลื่นวิทยุที่มีประโยชน์อย่างมากและใช้งานอย่างแพร่หลาย เป็นตัวเสริมให้ระบบการทำงานอื่น ๆ สามารถทำงานได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ในอนาคตอาจจะนำมาพัฒนาต่อยอดและเป็นประโยชน์ให้กับวงการแพทย์และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อีกมากมาย


ขอบคุณที่มาโดย : Supharerk Thawillarp (หมอไผ่). HEALTH BOX UN, AIS DESIGN CENTRE, PROUD TEK, RFID-ASIA.COM, TECHSAUCE

ขอบคุณภาพโดย : Teravector on Freepik

บทความน่าสนใจ >> ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี เปิดตัว ไมโครชิพอัจฉริยะด้านการแพทย์

อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่