Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

NEWS

    

ธุรกิจเด็กหลอดแก้วดีมานด์ทะลัก โรงพยาบาลเปิดศึกแย่งลูกค้าจีน

“เด็กหลอดแก้ว"

รพ.เอกชน คึกคักรับดีมานด์คนไข้จีนอยากมีลูกเพิ่ม โอกาสทองศูนย์ไอวีเอฟ-เด็กหลอดแก้ว บำรุงราษฎร์-บางกอกเชน-เมดพาร์ค-เอกชัย เร่งโปรโมต ทำการตลาด จับมือเอเย่นต์ขนคนจีนเข้ามารักษา ชี้จุดแข็ง หมอไทยเก่ง-ค่าบริการถูก-การรักษามีคุณภาพมาตรฐาน หนุนตลาดเติบโตก้าวกระโดด เผยเมื่อปี 2562 โกยเงินรายได้เข้าประเทศเฉียด ๆ 5 พันล้าน

ปัจจัยจากนโยบายการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ของทางการจีน และอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศได้ และสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย นอกจากจะส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัวขึ้นแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลกลับมามีความคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการให้บริการศูนย์รักษาภาวะการมีบุตรยาก

ที่ขณะนี้โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งเริ่มกลับมาเปิดให้บริการและเริ่มมีการทำการตลาดมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อจะรองรับกลุ่มลูกค้าทั้งคนไทย และชาวจีนที่ต้องการจะมีบุตรเพิ่มตามนโยบายของทางการจีนที่อนุญาตให้มีบุตรได้มากกว่า 1 คน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเข้ามาตั้งแต่ครึ่งปีหลังเป็นต้นไป

แนวโน้ม “ไอวีเอฟ” คึกคัก

ศ.ดร.นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH กลุ่ม รพ.เกษมราษฎร์, เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, การุญเวช และเวิลด์ เมดิคอล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่รัฐบาลจีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้คนจีนเดินทางออกท่องเที่ยวต่างประเทศได้

ล่าสุดขณะนี้เริ่มเห็นคนไข้ชาวจีนเริ่มทยอยเดินทางเข้ามามากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะมาด้วยเรื่องเวลเนส การดูแลสุขภาพ การดูแลตัวเอง เรื่องของความสวยความงาม ซึ่งตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เวิลด์ เมดิคอล ก็เริ่มมีคนไข้ชาวจีนที่มาเป็นกรุ๊ป เข้ามาทำในเรื่องของเวลเนส ตรวจเช็กร่างกาย

นอกจากนี้ยังคาดว่า ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เด็กหลอดแก้ว หรือศูนย์รักษาภาวะการมีบุตรยาก (IVF) ของ รพ.ต่าง ๆ ก็จะเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น หลังจากที่ชะลอตัวลงเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา สำหรับบางกอก เชนฯเอง โดยในส่วนของ รพ.เวิลด์ เมดิคอล ก็ได้กลับมาเปิดศูนย์ IVF อีกครั้ง เพื่อรองรับดีมานด์จากชาวจีน ที่คาดว่าจะทยอยเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

นอกจากนี้ ศูนย์นี้ก็จะรองรับกลุ่มคนไข้จากประเทศลิเบีย ที่ รพ.ได้มีการติดต่อประสานงานกับสถานทูตไปแล้ว และอยู่ในขั้นตอนของการทยอยนำคนไข้เข้ามา

ล่าสุดเมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา บางกอก เชนฯ ก็ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับบริษัท ลาวิดา แอดวานซ์ เฟอร์ติลิตี้ แอนด์ เจเนติกส์ เซ็นเตอร์ จำกัด เพื่อดูแลจัดการรับและส่งต่อผู้ป่วยจากจีน เข้ารับบริการทางการแพทย์ที่ รพ.เวิลด์ เมดิคอล โดยเน้นกลุ่มผู้รับบริการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก และกลุ่มผู้รับบริการด้าน antiaging หรือเวชศาสตร์ชะลอวัย

เตรียมพร้อมรับจีนอยากมีลูก

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ตลาดรักษาภาวะการมีบุตรยากในไทยยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากประเทศไทยมีชื่อเสียงและมีคุณภาพการรักษาที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ทั้งในแง่ของชื่อเสียงของแพทย์ คุณภาพและมาตรฐานการรักษา รวมทั้งอัตราค่าบริการที่ถูกกว่าหลาย ๆ ประเทศ ทั้งสหรัฐ สิงคโปร์ และมาเลเซีย

นอกจากนี้ การขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ได้รับความนิยมมากขึ้นก็จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ตลาดนี้เติบโตมากขึ้น ซึ่งความต้องการมีบุตรเพิ่มของคนจีน หลังทางการจีนมีนโยบายส่งเสริมให้มีบุตรได้มากกว่า 1 คน จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตลาดนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ขณะที่ นายแพทย์อำนาจ เอื้ออารีมิตร กรรมการและผู้อำนวยการโรงพยาบาล บริษัท เอกชัยการแพทย์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร รพ.เอกชัย เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลจีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้คนจีนเดินทางออกท่องเที่ยวต่างประเทศได้ คาดว่าจะส่งผลดีกับ รพ.เอกชัย

และคาดว่าลูกค้าชาวจีนน่าจะกลับมาใช้บริการศูนย์ IVF ของ รพ.มากขึ้น และจะทำให้จำนวนลูกค้า IVF เพิ่มขึ้น โดยคาดว่ากลุ่มลูกค้าชาวจีนจะเดินทางเข้ามาตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นไป หรืออย่างเร็วอาจจะเป็นช่วงปลายไตรมาส 2/2566 โดยปีนี้ตั้งเป้าลูกค้ามาใช้บริการที่ศูนย์ IVF ประมาณ 300 คู่ จากปี 2565 มีลูกค้าใช้บริการ 100 คู่

ก่อนหน้านี้ นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค เปิดเผยว่า มีแผนจะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่ต้องการจะเข้ามารักษาภาวะการมีบุตรยาก และอยู่ระหว่างการเจรจากับเอเย่นต์ในประเทศจีน

จัดแพ็กเกจรับคนไข้ไทย-เทศ

ขณะนี้โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งเริ่มมีความเคลื่อนไหวในการทำการตลาดศูนย์รักษาภาวะการมีบุตรยาก เพื่อรองรับดีมานด์ทั้งลูกค้าชาวไทยและต่างประเทศที่คาดว่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เช่น รพ.บำรุงราษฎร์ ที่มีการโปรโมต ศูนย์การเจริญพันธุ์และคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก (ปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา) ด้วยการชูจุดเด่นในเรื่องความพร้อมของทีมแพทย์และบุคลากรผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่จะให้การดูแลคนไข้อย่างครบวงจรในที่เดียว

เช่นเดียวกับ รพ.ธนบุรีบำรุงเมือง ได้ลงนามความร่วมมือ MOU กับบริษัท นิวเซจ (ปักกิ่ง) อินโฟเมชั่น เทคโนโลยี จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลปัญหาการมีบุตรยาก ผู้ก่อตั้งและเจ้าของ บริษัท พระราม 3 เฟอร์ทิลิตี้ แอนด์ ยีน เซ็นเตอร์ จำกัด (ปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก

จากการสำรวจพบว่า ขณะนี้ รพ.หลาย ๆ แห่งมีการจัดแพ็กเกจเพื่อกระตุ้นตลาดด้วย เช่น บำรุงราษฎร์ จัดแพ็กเกจการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยใช้การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย หรือการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ราคาเริ่มต้นที่ 350,900 บาท แบบเหมาจ่าย (ถึง 30 มิ.ย. 66) นอกจากนี้ยังมีแพ็กเกจอื่น ๆ อาทิ แพ็กเกจเพื่อคัดกรองภาวะมีบุตรยาก (สตรี), แพ็กเกจฝากไข่ (โปรแกรมการแช่แข็งเก็บรักษาเซลล์ไข่) เป็นต้น

ขณะที่ รพ.กรุงเทพ แพ็กเกจการรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยแบ่งเป็นแพ็กเกจสำหรับคนไทย และชาวต่างชาติที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย เช่น แพ็กเกจ A กระตุ้นไข่จนถึงใส่ตัวอ่อน และการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก ราคา 260,500 บาท แพ็กเกจ B ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป/เคยมีประวัติแท้งมาก่อน การกระตุ้นรังไข่เพื่อทำเด็กหลอดแก้ว การเจาะเก็บไข่ผ่านทางช่องคลอด การตรวจโครโมโซมและแช่แข็งตัวอ่อน (3 Embryo) และการย้ายกลับตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก ราคา 359,500 บาท (1 ม.ค.-31 ธ.ค. 66)

ส่วน รพ.เมดพาร์ค แพ็กเกจการรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยใช้การปฏิสนธิภายนอกร่างกายเด็กหลอดแก้ว หรืออิ๊กซี่ โดยจะฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่ และนำไปเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ และฝังตัวอ่อนในมดลูกเพื่อกระตุ้นการตั้งครรภ์ ราคา 279,999 บาท (ราคานี้เฉพาะชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ระยะเวลาถึง 30 มิ.ย. 66 นอกจากนี้ยังมีแพ็กเกจตรวจสุขภาพเพื่อประเมินภาวะมีบุตรยาก สำหรับผู้ชาย-ผู้หญิง (ถึง 30 มิ.ย. 66)

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยรายชื่อของโรงพยาบาลและสถานบริการที่ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่ได้รับอนุญาต ณ วันที่ 22 มี.ค. 2566 มีทั้งสิ้น 107 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาล 46 แห่ง คลินิกอีก 61 แห่ง โดยตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ 75 แห่ง และต่างจังหวัด 32 แห่ง

จากการสำรวจเชิงสถิติของ สบส.เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2562 พบว่า การให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 4,500 ล้านบาท โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

และอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ของประเทศไทย ได้รับความเชื่อมั่นจากชาวไทยและชาวต่างประเทศก็คือ การมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ควบคุม กำกับการใช้เทคโนโลยีให้มีความถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐาน

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/marketing/news-1266381