Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

‘ทองแดง’ มีค่ามากกว่าความงาม เพราะฆ่าเชื้อโรคได้



เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2020 นักวิจัย Neeltje van Doremalen และทีมงาน ได้เผยแพร่ผลงานผ่านวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (The New England Journal of Medicine) เกี่ยวกับการศึกษาเปรียบเทียบอายุขัยของเชื้อไวรัสทั้งสองชนิด ระหว่างไวรัสโครานาสายพันธุ์ดั้งเดิม (SARS-CoV-1) และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) บนพื้นผิวต่าง ๆ พบว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้สามารถมีชีวิตอยู่ในแต่ละพื้นผิวได้แตกต่างกันตามข้อมูลด้านล่างนี้

อายุขัยของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือโรคโควิด-19 เมื่ออยู่บนแต่ละพื้นผิว*

ฝอยละอองขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอนในอากาศ (Aerosol) 3 ชั่วโมง
พลาสติก (Plastic) 72 ชั่วโมง
สแตนเลส (Stainless Steel) 48 ชั่วโมง
ทองแดง (Copper) 4 ชั่วโมง
กระดาษแข็ง (Cardboard) 24 ชั่วโมง

*สรุปข้อมูลจากบทความ "Aerosol and surface stability of SARS-CoV-2 as compared with SARS-CoV-1."



จากผลงานวิจัยข้างต้นนี้ ทำให้หลายคนรวมถึงในวงการแพทย์หันมาสนใจในวัสดุ ‘ทองแดง’ มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลที่นอกเหนือจากความสวยงามของสีที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ทองแดงยังเป็นอีกหนึ่งในโลหะที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำโดยที่ยังคงคุณสมบัติเดิมไว้ได้ครบถ้วน และที่สำคัญ ทองแดงนั้นมีบทบาทอย่างมากในด้านสาธารณสุขมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากทองแดงมีคุณสมบัติทางเคมีเฉพาะตัว ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาสามารถทำลายผนังเซลล์ของตัวไวรัสได้

มีการทดลองใช้ทองแดงเป็นวัสดุปิดผิวบนอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในห้องพักผู้ป่วยในโรงพยาบาล เมื่อเปรียบเทียบกับห้องพักผู้ป่วยทั่วไป ผลที่ได้ คือ ทองแดงช่วยลดปริมาณแบคทีเรียสะสมได้ถึง 83% รวมถึงพบว่ามีอัตราการติดเชื้อของผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลลดลง 58% อย่างไรก็ตาม ทองแดงยังมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่ เนื่องจากเมื่อใช้งานไปเป็นเวลาหนึ่ง ทองแดงจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันจนกลายเป็น ‘สนิม’ และเปลี่ยนสีจากสีทองแดงกลายเป็นสีเขียวอมน้ำเงิน (Greenish-blue) แต่ถึงแม้ว่าจะมีสีที่เปลี่ยนไป ทองแดงก็ยังคงคุณสมบัติในการป้องกันไวรัสและแบคทีเรียได้ดีเช่นเดิม

ปัจจุบันมีสถานที่สาธารณะบางแห่ง อย่างเช่น สวนสนุก Fantasilandia ในประเทศชิลี หรือจุดเติมน้ำดื่มภายในท่าอากาศยานแอตแลนตา สหรัฐฯ เริ่มเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์สำหรับให้บริการคนจำนวนมากมาเป็นผิวทองแดงแล้ว ดังนั้น ในอนาคตเราอาจได้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับการออกแบบเพื่อใช้ทองแดงเป็นวัสดุปิดผิวต่าง ๆ ของอุปกรณ์ในพื้นที่สาธารณะเพิ่มเติมมากขึ้น เช่น ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได ลูกบิดประตู เพื่อลดการสะสมของเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย รวมไปถึงลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคผ่านการสัมผัสสิ่งของร่วมกัน


ขอบคุณบทความจาก TCDC https://web.tcdc.or.th/th/Articles/Detail/Copper-Destroys-Viruses
Image by marcelkessler from Pixabay - https://pixabay.com/photos/passage-copper-wide-gang-corridor-4654260/