Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

มาทำความรู้จัก ‘เครื่องกระตุ้นหัวใจ’ กัน



เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า (Implantable Cardioverter Defibrillator: ICD) เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือที่ถูกผ่าตัดฝังใต้ผิวหนัง ส่วนใหญ่บริเวณหน้าอกด้านซ้ายใต้กระดูกไหปลาร้าของผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว ภาวะหัวใจสั่นพลิ้ว หรือภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน




ส่วนเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดฝังใต้ผิวหนัง (Subcutaneous ICD) เป็นอุปกรณ์ซึ่งตัวเครื่องจะถูกฝังอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณใต้รักแร้ โดยขั้วไฟฟ้าที่ต่อจากเครื่องจะถูกแนบไปตามกระดูกหน้าอก และการฝังเครื่องชนิดนี้จะมีความยุ่งยากน้อยกว่า แต่มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องกระตุ้นหัวใจทั่วไปที่ต้องต่อสายฉนวนไฟฟ้าเข้ากับเส้นเลือดหัวใจ โดยเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดนี้จะถูกใช้เพียงในสถานพยาบาลบางแห่งและในผู้ป่วยบางรายที่มีความผิดปกติของเส้นเลือดหัวใจ ทำให้ไม่สามารถต่อสายเครื่องกระตุ้นหัวใจเข้ากับเส้นเลือดที่เข้าสู่หัวใจได้ หรือผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบทั่วไป

มาดูกันว่า เครื่องกระตุ้นหัวใจทำงานอย่างไร
ตัวเครื่องจะมีขนาดเล็ก ทำงานด้วยระบบแบตเตอรี่ และมีสายบาง ๆ ที่เป็นสายหุ้มฉนวนไฟฟ้าเชื่อมต่อไปยังเส้นเลือดที่เข้าสู่หัวใจ เพื่อช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ ป้องกันและลดความเสี่ยงไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการเต้นผิดปกติของหัวใจ โดยเครื่องกระตุ้นหัวใจจะทำงานด้วยการส่งกระแสไฟฟ้าช็อคกระตุ้นให้หัวใจเต้นอย่างเป็นปกติหากหัวใจมีจังหวะการเต้นที่ผิดปกติ เต้นช้า เต้นเร็วเกินไป หรือหัวใจหยุดเต้น

เหตุใดผู้ป่วยถึงต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ
ทุกครั้งที่หัวใจเต้น หัวใจจะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย โดยมีกล้ามเนื้อหัวใจที่ถูกควบคุมโดยกระแสไฟฟ้าคอยบีบหรือคลายตัว ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้อย่างปกติ

เมื่อไรก็ตามที่กระแสไฟฟ้าถูกรบกวนจากปัจจัยต่าง ๆ จะทำให้การไหลเวียนเลือดผิดปกติ นำไปสู่การเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีอันตรายถึงชีวิตได้ เรียกภาวะนี้ว่า ‘สัญญาณไฟฟ้าหัวใจถูกขัดขวาง (Heart block)’ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีสัญญาณไฟฟ้าที่ควบคุมการเต้นของหัวใจถ่ายทอดไปไม่ได้ จนทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ

ใครบ้างที่ควรใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ
แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต จากภาวะหัวใจเต้นผิดปกติจนเกิดหัวใจวาย โดยผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องกระตุ้นหัวใจ ประโยชน์ ข้อดี ข้อเสีย และความเสี่ยงจากการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจให้ดี

โดยอาการป่วยที่มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต จากภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ ได้แก่
• ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
• ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว
• ผู้รอดชีวิตหลังเคยประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
• โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
• กลุ่มอาการระยะคิวทียาว (Long QT Syndrome) ทำให้ผู้ป่วยมีการนำไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ
• กลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada Syndrome) ที่ทำให้เกิดภาวะไหลตาย
• ภาวะอาการป่วยอื่น ๆ ที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และภาวะหัวใจวาย

การดูแลตัวเองหลังจากการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ
• หลังจากใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ คุณสามารถกลับไปใช้ชีวิตเกือบปกติได้ทันที แต่ควรเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากเป็นเวลา 3 - 4 สัปดาห์
• เมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน คุณสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ และสามารถทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงหนักได้ เช่น การเล่นกีฬา
• คุณอาจจะรู้สึกหนัก และรู้สึกถึงเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในร่างกายได้ แต่ไม่นานก็จะชินไปเอง
• คุณจะต้องเข้ารับการตรวจร่างกายเป็นประจำ เพื่อตรวจสอบว่าเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจยังทำงานได้ปกติหรือไม่ และให้แพทย์เก็บข้อมูลการเต้นของหัวใจ เพื่อติดตามภาวะการทำงานของหัวใจ
• เครื่องใช้ภายในบ้านเกือบทุกชนิด (รวมถึงเครื่องไมโครเวฟ) ไม่รบกวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
• การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ถือว่ามีความปลอดภัยและมีความเสี่ยงที่จะก่อให้โรคร่วมน้อยลง
• ข้อควรดูแลเป็นพิเศษ คือ การรักษาเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจให้ทำงานอย่างปกติ ลวดสายไฟจะต้องอยู่ตรงตำแหน่งที่ถูกต้อง ในบางครั้ง แพทย์สามารถตั้งโปรแกรมใหม่ให้แก่เครื่องได้เพื่อที่จะซ่อมแซมการส่งสัญญาณ

ความเสี่ยงของเครื่องกระตุ้นหัวใจ
หากผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามนัดหมาย และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอ ย่อมช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตหลังการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากเครื่องกระตุ้นหัวใจ ได้แก่
• การติดเชื้อในบริเวณที่ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ
• อาการแพ้ต่อยาที่ใช้ในระหว่างการผ่าตัด
• อาการบวม มีเลือดไหล หรือมีรอยช้ำตำแหน่งที่ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ
• เกิดความเสียหายบริเวณเส้นเลือดที่ถูกต่อเข้ากับเครื่องหรือในบริเวณใกล้เคียง
• มีเลือดไหลออกจากลิ้นหัวใจตำแหน่งที่ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ
• มีเลือดออกบริเวณหัวใจ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
• ปอดแตก หรือภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (Pneumothorax)


ขอบคุณข้อมูลจาก :
www.honestdocs.co/pacemaker-implantation
www.pobpad.com /เครื่องกระตุ้นหัวใจ-คือ