Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

วัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับเด็ก



กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่เด็กและวัยรุ่นไปบ้างแล้ว โดยเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ฯลฯ และเดือนตุลาคมนี้ จะมีการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นทั่วประเทศ





วัคซีน Pfizer เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีการอนุมัติใช้กับเด็กอายุตั้งแต่ 12-18 ปี ภายในประเทศไทยเป็นชนิดแรก (ณ เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564) โดยมีข้อมูลการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัย ดังต่อไปนี้

ประสิทธิภาพของวัคซีน Pfizer ในเด็ก
1. วัคซีน Pfizer มีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่แสดงอาการ เมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพการป้องกันในผู้ใหญ่
2. วัคซีน Pfizer สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็ก ระดับใกล้เคียงกับผู้ใหญ่อายุ 16-25 ปี โดยมีระดับภูมิคุ้มกันอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก

ผลข้างเคียงของวัคซีน Pfizer ในเด็ก
1. ผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น เจ็บบริเวณตำแหน่งที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
2. อาการข้างเคียงเฉพาะที่ที่เกิดขึ้นเล็กน้อย เช่น บวม แดงในตำแหน่งที่ฉีด
3. อาการข้างเคียงทั้งระบบ เช่น ไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
4. อาการข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นอาการข้างเคียงที่พบรายงานในอัตราต่ำมาก

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำในฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุ 12 ขึ้นไป เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ดังนี้
• วัคซีน mRNA : องค์การอาหารและยา (อย.) แนะนำเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปี สามารถฉีดวัคซีนชนิด mRNA ที่ผ่านการรับรองและมีผลวิจัยรองรับ คือ Pfizer-BioNTech
• อายุ 16-18 ปี ไม่แตกต่างกับผู้ใหญ่ : สามารถรับวัคซีนได้หากไม่มีข้อห้ามใด ๆ ทั้งเด็กที่ปกติแข็งแรงดีและที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เนื่องจากเด็กในช่วงอายุดังกล่าวมีรูปแบบการใช้ชีวิตใกล้เคียงกับผู้ใหญ่พอสมควร
• อายุ 12-16 ปี ควรเข้ารับวัคซีนหากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง : ซึ่งจะทำให้เกิดอาการของโรคที่รุนแรง ดังต่อไปนี้
o บุคคลที่มีโรคอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กก. ต่อตารางเมตร หรือมีน้ำหนัก 70 กก. ขึ้นไปในเด็กอายุ 12-13 ปี, น้ำหนัก 80 กก. ขึ้นไปในเด็กอายุ 13-15 ปี, น้ำหนัก 90 กก. ขึ้นไปในเด็กอายุ 15-18 ปี หรือเด็กอ้วนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น)
o โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งโรคหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
o โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
o โรคไตวายเรื้อรัง
o โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
o โรคเบาหวาน
o กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า

โอกาสการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเด็ก
การติดเชื้อในเด็กพบเจอได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่ แต่แนวโน้มจะสามารถเพิ่มขึ้นได้ หากเชื้อไวรัสเกิดการระบาดรุนแรงขึ้นในอนาคต หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่ยากต่อการป้องกัน กรณีอาการรุนแรงมักพบในการติดเชื้อของเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 12-18 ปีลงไปพบว่ามีโอกาสเกิดอาการรุนแรงน้อย

เด็กยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรทำอย่างไร
เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาอย่างละเอียด การป้องกันการติดเชื้อในเด็กจึงเกี่ยวข้องกับผู้ปกครองโดยตรง เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อสู่เด็ก ผู้ปกครองควรเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ให้ครบโดส และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของเด็ก ดังนี้
• หลีกเลี่ยงความเสี่ยงการติดเชื้อ ไม่พาเด็กเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ชุมชนแออัด สวมหน้ากากอนามัย และให้ล้างมือบ่อย ๆ หลังสัมผัสกับวัตถุ
• ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ส่งเสริมสุขภาพให้เด็กอย่างเหมาะสม ทั้งเวลาการพักผ่อนที่เพียงพอ การออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่หลากหลายครบ 5 หมู่
• ฉีดวัคซีนอื่นเสริมการป้องกันทางอ้อม ควรให้เด็กเข้ารับวัคซีนตามกำหนดของช่วงอายุ ร่วมกับวัคซีนที่มีส่วนช่วยลดผลข้างเคียงเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นนั้น ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่เป็นความสมัครใจ ดังนั้น ผู้ปกครองจะต้องการพิจารณาถึงความจำเป็นของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเด็กและวัยรุ่นเหมือนกับการพิจารณาในผู้ใหญ่ และหากเด็กได้รับวัคซีนแล้ว ควรสังเกตุอาการข้างเคียงอย่างใกล้ชิด และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายประเภทใช้แรงเยอะประมาณ 1 สัปดาห์ขึ้นไปเพื่อเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับหัวใจ



ขอบคุณที่มาโดย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย , โรงพยาบาลเพชรเวท , กรุงเทพธุรกิจ , BBC NEWS
ขอบคุณภาพโดย Freepik.com