Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

ปิเปตต์ (Pipette) เครื่องดูดจ่ายสารละลายในห้องแล็บ



พูดถึงห้องปฏิบัติการทางเคมี หรือ ห้องแล็บ หลายคนคงนึกถึงนักวิทยาศาสตร์กำลังทดลองหรือปรุงสารเคมีเพื่อหาสูตรเคมีใหม่ ๆ อุปกรณ์ที่ใช้ปรุง ตวง วัดสารที่เห็นจนคุ้นตาคงหนีไม่พ้น 'เครื่องแก้ววิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ' นอกจากจะเป็นอุปกรณ์ที่นักเคมี นักวิทยาศาสตร์ หรือ นักวิจัย ใช้ในบรรจุสาร วัดปริมาตร ในการทดลองแล้ว ยังช่วยในการพัฒนาความรู้และงานด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีของประเทศและโลกให้เจริญก้าวหน้าอีกด้วย



เครื่องแก้ววัดปริมาตรจำเป็นจะต้องมีการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มีคุณลักษณะเป็นตามหลักมาตรฐานสากล และวิธีการสอบเทียบที่กำหนด โดยองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และหนึ่งใน เครื่องแก้ว ที่ใช้วัดปริมาตรของเหลวที่ต้องการความแม่นยำสูง นั่นคือ ปิเปตต์ (Pipette)

ปิเปตต์ (Pipette) มีลักษณะเป็นหลอดแก้ว ใส ใช้ในการ ตวง-วัด ปริมาณสารที่เป็นของเหลวหรือสารละลาย มีสเกลการวัดที่ละเอียดและมีความแม่นยำสูง เทคนิคการใช้งานปิเปตต์จึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ใช้งานควรมีเทคนิคที่ถูกต้องและมีทักษะในการใช้งาน

ประเภทของปิเปตต์ที่มีใช้อยู่ในห้องปฏิบัติการ ได้แก่
ปิเปตต์แบบปริมาตร (Volumetric Pipette หรือ Transfer Pipette) ปิเปตต์ชนิดนี้ใช้วัดปริมาตรที่กำหนดเพียงปริมาตรเดียว ไม่มีขีดแบ่งส่วนย่อย ดังนั้น จึงวัดปริมาตรได้เพียงค่าเดียว ใช้ในกรณีที่ต้องการความแม่นยำสูง มีลักษณะเป็นกระเปาะอยู่ตรงกลาง มีขีดบอกปริมาตรอยู่เหนือกระเปาะใกล้ปลายปากดูด การวัดจะถูกต้องเมื่อปล่อยให้สารละลายไหลออกช้า ๆ จนหมด แล้วแตะปิเปตต์กับผิวด้านในของภาชนะที่รองรับโดยไม่ต้องเป่า แม้จะมีสารละลายเหลืออยู่ที่ปลายของปิเปตต์บ้างก็ตาม

ปิเปตต์แบบใช้ตวง (Graduated Pipette หรือ (Measuring Pipette) ปิเปตต์ชนิดนี้ไม่มีกระเปาะ มีขีดแบ่งย่อยปริมาตร แต่ไม่แบ่งลงไปจนถึงปลายสุดของปิเปตต์ ดังนั้น เวลาใช้ต้องระวังอย่าให้สารละลายไหลลงไปต่ำกว่าส่วนแบ่งขีดสุดท้าย ซึ่งจะทำให้การถ่ายเทปริมาตรได้มากกว่าที่เป็นจริง มีความแม่นยำน้อยกว่าปิเปตต์แบบปริมาตร เมื่อเทียบที่ขนาดความจุเท่ากัน

ไมโครปิเปตต์ (Micropipette หรือ ออโต้ปิเปตต์ (Autopipette) คือ อุปกรณ์ที่มีความแม่นยำให้การดูดจ่ายของเหลวปริมาณน้อย ๆ โดยทั่วไปไมโครปิเปตต์จะมีส่วนประกอบ อาทิเช่น หน้าปัดสำหรับปรับปริมาตรที่ต้องการ, ปุ่มสำหรับกดดูดจ่ายสาร, ปุ่มในการปลดทิป เป็นต้น


วิธีการใช้
1. ก่อนใช้ปิเปตต์ ต้องมีการทำความสะอาดโดยดูดน้ำกลั่นเข้าไปจนเกือบเต็ม แล้วปล่อยให้ไหลออกมาจนหมด สังเกตดูว่าถ้าไม่มีหยดน้ำเกาะติดอยู่ภายในแสดงว่าปิเปตต์สะอาดดีแล้ว
2. เมื่อจะนำปิเปตต์ที่เปียกไปใช้วัดปริมาตร ต้องล้างปิเปตต์ด้วย สารละลาย ที่จะวัด 2-3 ครั้ง โดยใช้สารละลายครั้งละเล็กน้อยและให้สารละลายถูกผิวแก้วโดยทั่วถึง แล้วเช็ดปลายปิเปตต์ด้วยกระดาษทิชชู่ที่สะอาด
3. จุ่มปลายปิเปตต์ลงในสารละลายที่จะวัดปริมาตร โดยที่ปลายปิเปตต์อยู่ต่ำกว่าระดับสารละลายตลอดเวลาที่ทำการดูด เพราะเมื่อใดที่ระดับของสารละลายในภาชนะลดลงต่ำกว่าปลายปิเปตต์ในระหว่างที่ทำการดูด สารละลายในปิเปตต์จะพุ่งเข้าสู่ปากทันที
4. ใช้เครื่องดูดหรือกระเปาะยางดูดสารละลายเข้าไปในปิเปตต์อย่างช้า ๆ จนกระทั่งสารละลายขึ้นมาอยู่เหนือขีดบอกปริมาตร และใช้นิ้วชี้ปิดปลายปิเปตต์ให้แน่นโดยทันที จับก้านปิเปตต์ด้วยนิ้วหัวแม่มือและนิ้วกลาง
5. จับปิเปตต์ให้ตั้งตรงแล้วค่อย ๆ ผ่อนนิ้วชี้ เพื่อให้สารละลายที่เกินขีดบอกปริมาตรไหลออกไปจนกระทั่งส่วนเว้าต่ำสุดของสารละลายแตะกับขีดบอกปริมาตรพอดี ปิดแน่นด้วยนิ้วชี้และแตะปลายปิเปตต์กับข้างภาชนะที่ใส่สารละลาย เพื่อให้หยดน้ำซึ่งอาจจะติดอยู่ที่ปลายปิเปตต์หมดไป จับปิเปตต์ให้ตรงประมาณ 30 วินาที่ เพื่อให้สารละลายที่ติดอยู่ข้าง ๆ ปิเปตต์ไหลออกหมด

ปล่อยสารละลายที่อยู่ในปิเปตต์ลงในภาชนะที่เตรียมไว้โดยยกนิ้วชี้ขึ้น ให้สารละลายไหลจนหมด แล้วแตะปลายปิเปตต์กับข้างภาชนะเพื่อให้สารหยดสุดท้ายไหลลงสู่ภาชนะ อย่าเป่าหรือทำอื่นใดที่จะทำให้สารละลายที่เหลืออยู่ที่ปลายปิเปตต์ไหลออกมา เพราะปริมาตรของสารละลายที่เหลือนี้ไม่ใช้ปริมาตรของสารละลายที่จะวัด

ข้อควรระวัง
• เช็ดปิเปตต์ให้สะอาดก่อนปรับปริมาตร
• เช็คว่าปิเปตต์ตั้งตรงหรือไม่ ในขณะที่ทำการทดลองเพื่อความถูกต้อง โดยเทียบปิเปตต์กับสิ่งที่ตั้งฉาก 2 อย่าง
• ไม่ควรใช้ปากดูดสารละลาย เพราะสารละลายมีพิษ เป็นกรดแก่ เบสแก่ ควรใช้เครื่องดูดหรือกระเปาะยางดูดสาร
• อย่าให้มีฟองอากาศบริเวณปลายปิเปตต์
• ห้ามเขย่า เป่า หรือเคาะปิเปตต์กับข้างภาชนะรองรับเป็นอันขาด ถึงแม้จะเห็นว่ายังมีของเหลวติดค้างอยู่ที่ปลายปิเปตต์เล็กน้อยก็ตาม มิฉะนั้นปริมาตรของสารละลายที่ถ่ายออกจากปิเปตต์อาจผิดพลาดได้

การทำความสะอาด
ปิเปตต์สามารถล้างด้วยสารละลายผงซักฟอกที่อุ่นหรือสารละลายทำความสะอาด โดยใส่สารละลายนี้ในปิเปตต์ประมาณ 1/3 ของปิเปตต์ ค่อย ๆ เอียงปิเปตต์จนเกือบจะอยู่ในแนวราบ แล้วหมุนปิเปตต์ไปมา เพื่อให้สารละลายเปียกไปทั่วพื้นผิวด้านในของปิเปตต์ ปล่อยให้สารละลายไหลออกทางปลายปิเปตต์ล้างด้วยน้ำกลั่นหลาย ๆ ครั้งจนแน่ใจว่าสะอาด (อาจทำซ้ำหากไม่แน่ใจว่าสะอาดดีแล้ว)

เครื่องแก้ววัดปริมาตรเป็นอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่มีความสำคัญสำหรับห้องปฏิบัติการวิจัยเป็นอย่างมาก เพราะมักใช้ทั้งในการทดสอบทางเคมีและชีวภาพ รวมถึงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ผู้ใช้งานต้องมีทักษะและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงาน จะทำให้ทำงานง่ายและสะดวกมากขึ้น


ขอบคุณที่มาโดย:
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ จันทร์สุวรรณ, Active Learning: Learning for All
Jira Tungvichitreak, Ratchadakorn Udomrit and Narisara Mataworn, APEX CHEMICALS
นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช.
Wallerchemical (Thailand)
il.mahidol.ac.th
NECTEC

ขอบคุณภาพโดย: Freepik , fernandozhiminaicela จาก Pixabay