Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

BIOPLASTIC นวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก



สาเหตุของการเกิดขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Used Plastic) เป็นพลาสติกที่ใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกในเวลาสั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อ หลอด แก้วน้ำ แก้วกาแฟ ช้อน ส้อม จานหรือกล่องใส่อาหารพลาสติก ทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในการช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้อีกทาง นั่นคือ การใช้พลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติก (Bioplastic)



Bioplastic คือ พลาสติกจากธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการทางชีวเคมีเปลี่ยนน้ำตาลที่ได้จากมันสำปะหลังและข้าวโพดให้เป็นพลาสติกที่มีกลไกสลายตัวได้ทางชีวภาพ ด้วยจุลินทรีย์ในธรรมชาติ เมื่อย่อยสลายหมดแล้วจะกลายเป็นน้ำ มวลชีวภาพ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช โดย Bioplastic ถูกแบ่งเป็นหลายประเภท แต่หากแบ่งตามหลักการย่อยสลายจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. Compostable Plastic พลาสติกที่สามารถย่อยสลายตัวได้ทางชีวภาพ ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม คือ สภาวะที่จุลินทรีย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การหมัก หรือ การฝังกลบในดิน โดยมีปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเป็นตัวช่วยการย่อยสลาย ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น รวมถึงขนาดและความหนาของผลิตภัณฑ์ พลาสติกในหมวดนี้ เช่น Polylactic Acid (PLA), Bio-Based Polybutylene Succinate (BioPBS) และ Polyhydroxyalkanoate (PHA)

2. Biobased Plastic พลาสติกที่เกิดจากแหล่งวัตถุดิบจากพืช เป็นวัสดุที่สามารถสร้างทดแทนได้ใหม่ (Renewable Raw Material) เช่น อ้อย สำปะหลัง เส้นใยจากพืช เป็นต้น ตัวอย่างพลาสติกที่เป็น Biobased Plastic เช่น Polyethylene ที่ผลิตจากอ้อย หรือ Polylactic Acid (PLA) ผลิตจากการหมักข้าวโพดที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้อีกด้วย

ทั้งนี้ Bioplastic สามารถย่อยสลายตัวได้ทางชีวภาพและไม่สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพนั้นขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางเคมีเป็นหลัก สามารถแยก Bioplastic ออกจากพลาสติกประเภทอื่น ๆ โดยสังเกตได้จาก ‘สัญลักษณ์พลาสติกรีไซเคิลหมายเลข 7’



ผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ Bioplastic ได้แก่

• สารเคลือบกระดาษ ปัจจุบันมีการนำ Bioplastic มาใช้งานเป็นสารเคลือบกระดาษสำหรับห่อแฮมเบอร์เกอร์ ถ้วยอาหาร หรือแก้วน้ำชนิดใช้แล้วทิ้ง

• ฟิล์มคลุมดินและวัสดุสำหรับการเกษตร การใช้ฟิล์มจาก Bioplastic ช่วยลดขั้นตอนการเก็บและกำจัดฟิล์มภายหลังการใช้งาน นอกจากนี้ ยังมีการนำมาใช้เป็นวัสดุควบคุมการปลดปล่อยสารสำคัญ เช่น ปุ๋ย สารเคมีสำหรับการเกษตร วัสดุกักเก็บน้ำสำหรับการเพาะปลูกพืชในทะเลทราย รวมถึงถุงหรือกระถางสำหรับเพาะต้นกล้า

• ถุงสำหรับใส่ของ ช่วยลดปริมาณขยะจากถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว

• ฟิล์มและถุงสำหรับใส่ขยะเศษอาหาร เหมาะสำหรับสถานที่ที่มีระบบการกำจัดขยะอินทรีย์ด้วยวิธีการหมักขยะ เนื่องจากสามารถกำจัดโดยการนำมาทำหมักพร้อมขยะอินทรีย์อื่น ๆ

• บรรจุภัณฑ์เพื่อการบริโภค เช่น ถาดย่อยสลายได้สำหรับอาหารสำเร็จรูปและอาหารจานด่วน เป็นแนวทางหนึ่งในการลดปัญหาด้านการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์

• โฟมเม็ดกันกระแทก ปัจจุบันมีการพัฒนาการผลิตโฟมเม็ดกันกระแทกจากแป้งและ Polymer ชนิดที่ละลายน้ำและสลายตัวได้ทางชีวภาพ ทำให้ง่ายต่อการใช้งานและสะดวกในการกำจัด

• การใช้งานทางการแพทย์ เช่น ผิวหนังเทียม ยาที่ถูกออกแบบให้สามารถควบคุมการปล่อยตัวยาอย่างช้า ๆ ภายในร่างกายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไหมละลาย และแผ่นดามกระดูกที่ได้รับการผ่าตัดและฝังอยู่ในร่างกายที่สามารถย่อยสลายได้เอง

แม้ว่า Bioplastic จะเป็นทางเลือกที่ดีต่อโลก แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การแยกขยะอย่างถูกต้องในชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้ขยะพลาสติกปนเปื้อนกับแหล่งน้ำหรือดิน รวมถึงการช่วยกันลดปริมาณพลาสติก และแยกขยะพลาสติกออกจากขยะอื่น ๆ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ รีไซเคิล เพื่อการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ


ขอบคุณที่มาโดย : Polymers' Place

ขอบคุณภาพโดย : Freepik , Plastic icons created by Freepik - Flaticon

บทความน่าสนใจ :
Bio Plastic เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ฟิล์มปิดหน้าถาด บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่