Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

RSV ภัยร้ายช่วงปลายฝนต้นหนาว อันตรายต่อลูกน้อยและผู้สูงอายุ



เมื่อก้าวเข้าสู่ปลายเดือนตุลาคม เป็นช่วงรอยต่อระหว่างฤดูฝนกับฤดูหนาว บางพื้นที่ฝนตกบาง ๆ สลับกับอุณหภูมิที่เย็นลงในตอนเช้า การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะอาจเกิดอาการป่วยได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะไวรัสในเด็กเล็กอย่าง RSV โรคที่อาการเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้



ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ และอาจลงไปที่หลอดลมฝอยหรือเนื้อปอด โดยจะพบมากในกลุ่มเด็กที่อายุน้อย และมีการระบาดมากในช่วงอากาศเย็นหรือหนาว สามารถรับเชื้อจากทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม น้ำมูก สารคัดหลั่ง จากคนสู่คนโดยการสัมผัส หรือละอองน้ำมูกของผู้ป่วยคนอื่น และมีระยะฟักตัวประมาณ 2-7 วัน โดยเฉลี่ย 4 วัน และอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคปอดบวม ปอดอักเสบ และหอบหืดได้ นอกจากนี้การติดเชื้อไวรัส RSV ในผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงเช่นเดียวกับเด็กเล็กได้

อาการของโรคติดเชื้อไวรัส RSV
อาการเหมือนไข้หวัดธรรมดา คือ มีน้ำมูก ไอ จาม มีไข้ หากเกิดในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กจะมีอาการปอดบวม ไอมาก หอบได้ง่าย เด็กจะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย บางครั้งเป็นมากจะหายใจดัง ‘วี้ด’ ถ้าเป็นมากขึ้นจะมีอาการหายใจล้มเหลวได้ เช่น หน้าอกบุ๋ม กระสับกระส่าย ซึม ไม่ร่าเริง ทานอาหารไม่ได้หรือทานได้น้อย ควรรีบมาพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

ผู้ที่เคยเป็น RSV แล้วสามารถเป็นซ้ำได้ แต่อาการจะน้อยลง และในผู้ใหญ่จะมีอาการน้อยกว่าในเด็ก และในเด็กโตจะมีอาการน้อยกว่าเด็กเล็กเช่นกัน

RSV กับ ไข้หวัดต่างกันอย่างไร ?
RSV อาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่แตกต่างกันตรงที่ RSV ระยะเวลาในการเป็นนานกว่าไข้หวัดธรรมดา ประมาณ 5-7 วัน ไอนาน มีน้ำมูกเยอะ มีเสมหะมากกว่าเด็กที่เป็นไข้หวัดธรรมดา สิ่งที่น่ากังวล คือ พอเด็กมีน้ำมูกเยอะ หรือเสมหะเยอะ บางครั้งจะไม่สามารถเอาออกเองไม่ได้ แล้วจะหายใจลำบาก

กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือปอดอักเสบติดเชื้อไวรัส RSV
• ทารกคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะที่อายุครรภ์น้อยกว่า 29 สัปดาห์
• เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี
• เด็กเล็กและผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคปอด เป็นต้น

การรักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV
• ปัจจุบัน ยังไม่มียาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัสที่จำเพาะ เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ
• ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง โดยมีอาการเหมือนเป็นหวัด สามารถให้ยาลดไข้พาราเซตามอล และเช็ดตัวเพื่อลดไข้ สังเกตอาการไข้ ลักษณะหายใจ แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าเด็กมีอาการรุนแรงหรือไม่ ควรพามาพบแพทย์
• ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง แพทย์จะพิจารณารับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก อาจมีการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก และอาจให้สารน้ำทางหลอดเลือด
• หากมีอาการหอบเหนื่อย เขียว แพทย์จะพิจารณาให้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง (High Flow Oxygen Nasal Cannula Therapy) หรือหากหายใจล้มเหลวจะต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV เด็ก ๆ จึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV ได้ โดยเฉพาะสถานที่ที่เด็กอยู่กันมาก ๆ เช่น โรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก

ป้องกันจาก RSV อย่างไร ?
• ทั้งผู้ปกครองและเด็กควรล้างมือบ่อย ๆ หลังจากทำกิจกรรม หรือก่อนรับประทานอาหาร
• ทำความสะอาดของเล่น และอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นประจำ
• ใส่หน้ากากอนามัย และใช้ผ้าเช็ดหน้า ปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอ หรือจาม
• หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อ สถานที่ หรือบริเวณแออัด
• ไม่ควรใช้ภาชนะหรือแก้วน้ำร่วมกัน
• ควรหยุดเรียนจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค


ขอบคุณที่มาโดย :
- พญ.ชนิตา พิชญ์ภพ กุมารแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคติดเชื้อ MedPark Hospital
- นายแพทย์ธนกร กาญจนประดับ กุมารแแพทย์โรคระบบหายใจ โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ
- นายแพทย์วีระกิจ หิรัญวิวัฒน์กุล ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช
- ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล หนองแขม

ขอบคุณภาพโดย : Rawpixel.com on Freepik

อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่