Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

‘MagikFresh’ ต้นแบบสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่





ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังคงส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็พยายามแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นตอของแหล่งกำเนิดฝุ่นไปจนถึงการบำบัดอากาศปลายทาง ทำให้มีการคิดค้น วิจัย แนวทางในการรับมือหรือบรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อให้ประชาชนได้มีอากาศที่บริสุทธิ์

MagikFresh-.jpeg



หนึ่งในนวัตกรรมที่ใช้พื้นที่ 100 ตารางเมตรให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ทำกิจกรรมนันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจได้ อย่าง ‘MagikFresh’ หรือ ‘ต้นแบบสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่’ เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ กรุงเทพมหานคร โดยออกแบบโครงสร้างกึ่งเปิด พร้อมกับติดตั้งเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 ณ บริเวณอุทยานสวนจตุจักร ระยะเวลา 7 เดือน (ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 - พฤษภาคม 2567)

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า “สวทช. ได้คิดค้นรูปแบบโครงสร้างที่สามารถควบคุมการไหลเวียนของอากาศภายในพื้นที่กึ่งปิดกึ่งเปิด ซึ่งฝุ่น PM2.5 จากภายนอกไม่สามารถเข้ามาได้ ร่วมกับนวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM2.5 เพื่อสร้างพื้นที่อากาศสะอาดโดยไม่ต้องกังวลต่อมลพิษฝุ่น PM2.5 ซึ่งโครงสร้างได้ถูกออกแบบให้สามารถถอดประกอบเพื่อการขนย้ายไปติดตั้งใช้งานในสถานที่ต่าง ๆ ได้”

ดร.พรอนงค์ พงษ์ไพบูลย์ หัวหน้าโครงการนวัตกรรมสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่ จัดตั้งโครงการนี้เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยสร้างสรรค์พื้นที่สวนสำหรับการทำกิจกรรมนันทนาการและพักผ่อน ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5


MagikFresh ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก

  • ส่วนโครงสร้าง หรือ MagikFresh Pavilion ออกแบบและวิจัยพัฒนาให้เกิดการไหลเวียนของอากาศในพื้นที่ มีพื้นที่เปิดโล่งด้านบน อากาศสะอาดที่ไหลเวียนผ่านเครื่องกรองเข้ามาจะไหลเวียนออกสู่ช่องเปิดด้านบน ฝุ่น PM2.5 จากภายนอกไม่สามารถย้อนกลับเข้ามาได้ และสามารถปรับขนาดได้ตามพื้นที่ที่ต้องการ

  • ส่วนเครื่องกรองอากาศ หรือ MagikFresh Air Cleaner เป็นการการปล่อยประจุให้ไปจับกับ PM2.5 แล้วให้เคลื่อนที่ผ่านไปยังชุดดักจับฝุ่นที่ประกอบด้วยแผ่นเพลทวางขนานกัน สามารถสร้างอากาศบริสุทธิ์ได้ 60,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ทำให้มีการไหลเวียนของอากาศภายในโครงสร้างไม่ต่ำกว่า 10 รอบต่อชั่วโมง และช่วยให้ฝุ่น PM2.5 ภายในโครงสร้างมีค่าต่ำกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

    "ในส่วนของไส้กรอง มีระบบตรวจสอบว่าเครื่องทำงานปกติหรือไม่ ระดับแรงดันเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน และสามารถถอดออกมาล้างทำความสะอาดได้ง่าย ทำให้ไม่ต้องใช้ค่าบริหารจัดการมาก พยายามปรับให้ทุกส่วนของเครื่องเป็น User Friendly ส่วนอายุการใช้งานขึ้นอยู่กับปริมาณฝุ่น" ดร.พรอนงค์ กล่าว


    งานวิจัยและพัฒนาของ สวทช. ในช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา ให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาของฝุ่น PM 2.5 มาโดยตลอด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
  • การรับมือที่ต้นตอของปัญหา มีการวิจัยพัฒนาเชื้อเพลิงการเผาไหม้ โดยการพัฒนาคุณภาพของสูตรน้ำมันเชื้อเพลิงไบโอดีเซล B10 และเพิ่มคุณภาพน้ำมันดีเซลด้วยกระบวนการ Hydrotreating ทั้งสองเชื้อเพลิงเป็นการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ
  • การตรวจวัดและระบบสารสนเทศ มีการวิจัยพัฒนาเซนเซอร์ตรวจวัดค่า PM 2.5 ด้วยเทคนิค Quartz Crystal Microbalance (QCM) ที่มีความแม่นยำสูง และการใช้ Supercomputer เพื่อคาดการณ์ระดับ PM2.5 ล่วงหน้า
  • การป้องกัน มีการวิจัยพัฒนาหน้ากากอนามัย nMask : Non-biological Mask ที่ได้ผ่านการทดสอบจากองค์กรมาตรฐานสากล (Nelson laboratory USA) สามารถกรองเชื้อไวรัส แบคทีเรีย จุลินทรีย์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน รวมทั้ง PM2.5 และการวิจัยพัฒนาเครื่องกรองฝุ่นละอองและกำจัดเชื้อโรคในอากาศ หรือเรียกว่า IonFresh+


    ความร่วมมือของ สวทช. และ กรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้ถือเป็นการป้องกันและเป็นช่วยบรรเทาให้ประชาขนมีทางเลือกในการเข้าถึงนวัตกรรมและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น



    ขอบคุณที่มาและภาพโดย : กรุงเทพธุรกิจ , INNOLIFE THAILAND

    อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่