Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

ADVERTORIALS

    

A-MED Care Pharma แพลตฟอร์มรับยาผู้ป่วย 16 อาการ แก้ปัญหาแออัดในโรงพยาบาล








เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นมา ผู้ป่วยจำนวนมากยอมเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเพื่อเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยคาดหวังว่าจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องในระดับดีที่สุด ส่งผลให้ปริมาณผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น นำมาสู่การให้บริการที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนไข้ได้อย่างเต็มที่ และเกิดความไม่พอใจในเรื่องของการให้บริการที่ล่าช้า

ทีมวิจัย A-MED สวทช. ได้พัฒนาระบบ A-MED Care Pharma แพลตฟอร์มการบริหารจัดการการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง เพื่อสนับสนุนการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสภาเภสัชกรรม ในการแก้ไขปัญหาความแออัดของหน่วยบริการสาธารณสุข รวมทั้งช่วยประชาชนให้เข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

A-MED-Care-Pharma--16--.jpeg



ระบบ A-MED Care Pharma คือ หนึ่งในบริการของแพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์ดิจิทัล (Digital Healthcare Platform) ซึ่งเป็น Core Business ของ สวทช. มีพันธกิจหลักในการนำเอาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านดิจิทัล เช่น เทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ที่ส่งผ่านข้อมูลเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่าง ๆ มาสนับสนุนหน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศไทย

การสัมภาษณ์พิเศษกิจกรรม NSTDA Meets the Press เรื่องระบบ A-MED Care Pharma บริการ ‘เชื่อมร้านยา ดูแล 16 อาการ’ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์ดิจิทัล (Digital Healthcare Platform) สวทช. กล่าวว่า ระบบ A-MED Care พัฒนาโดย สวทช. เพื่อเป็นแพลตฟอร์มหลังบ้านในการบริหารจัดการ การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรทองของ ร้านยา ภายใต้การกำกับของสภาเภสัชฯ และ สปสช. ซึ่งร้านยาที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านมาตรฐานหลักวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนของกระทรวงสาธารณสุข และผ่านเกณฑ์การเป็นร้านยาคุณภาพของสภาเภสัชกรรม เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะได้รับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรในเรื่องการใช้ยาและการปฏิบัติตัวอย่างมีมาตรฐานและเหมาะสม

“ในการพัฒนาเทคโนโลยี A-MED Care Pharma ทีมวิจัยได้มีการพัฒนาระบบการวินิจฉัยโรค การจ่ายยาตามอาการนำของโรค ระบบติดตามอาการทางไกลผ่านระบบ Telehealth สำหรับเภสัชกร และระบบการเบิกจ่าย E-Claim ไปยังกองทุน สปสช. เพื่อให้รองรับการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับก้าวต่อไป ทีมวิจัยตั้งเป้าพัฒนาระบบ A-MED Care Pharma ในบริการจ่ายยาเพื่อลดความแออัด หรือ ระบบ E-Prescription รูปแบบที่เรียกว่า โมเดล 3 เพื่อให้ร้านยาได้ใช้งานระบบเดียว ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ตั้งแต่ขั้นตอนการบันทึก การรายงาน และการส่งเบิกจ่ายเป็นระบบเดียวในร้านยา”

ภญ.เพ็ญทิพา แก้วเกตุทอง ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองร้านยาคุณภาพ สภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ความแออัดในโรงพยาบาลและหน่วยการบริหารสาธารณสุขเป็นปัญหาใหญ่ในการเข้ารับบริการ ประชาชนต้องเสียเวลานานในการรอคอยเพื่อพบแพทย์และรับยา บุคลากรทางการแพทย์ต่างเหนื่อยล้าจากภาระงานที่มีมากเกินกว่าจะรองรับได้ ที่ผ่านมาทางสภาเภสัชกรรมพยายามขับเคลื่อนร้านยาเพื่อให้เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยในปี 2562 สปสช. ได้มีการประกาศให้ ‘ร้านยาเป็นหน่วยร่วมบริการ’ และเกิดโครงการลดความแออัดขึ้น โดยผู้ป่วยที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีอาการคงที่ให้สามารถไปรับยาที่ร้านยาเพื่อช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลารอคอยที่โรงพยาบาลและยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาลอีกด้วย

สภาเภสัชกรรมเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลในการเข้ามาช่วยยกระดับบริการทางสาธารณสุขให้แก่ประชาชน ในปีงบประมาณ 2566 จึงเพิ่มบริการเชิงรุกให้ผู้ป่วยบัตรทองที่เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการมารับยากับเภสัชกรที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยระบบ A-MED Care Pharma ช่วยให้การให้บริการของเภสัชกรในโครงการเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ใช้งานง่าย มีความเสถียร และมีแอดมินช่วยแก้ไขปัญหาตลอดเวลา ผนวกกับการดูแลจ่ายยา ให้คำแนะนำ ติดตาม หรือส่งต่อพบแพทย์ เป็นโครงการที่ตรงตามความต้องการของประชาชน ตลอดจนให้ร้านยาบริการต่อเนื่องไปในปีงบประมาณ 2567 อีกทั้งยังให้ขยายกลุ่มอาการเพิ่มขึ้นและมียาสมุนไพรเข้ามาใช้เป็นทางเลือกอีกด้วย


ผู้ป่วย 16 กลุ่มอาการ ได้แก่
1. ปวดหัว (HEADACHE)
2. เวียนหัว (Dizziness)
3. ปวดข้อ (PAIN IN JOINT)
4. เจ็บกล้ามเนื้อ (MUSCLE PAIN)
5. ไข้ (FEVER)
6. ไอ (COUGH)
7. เจ็บคอ (SORE THROAT)
8. ปวดท้อง (STOMACHACHE)
9. ท้องผูก (CONSTIPATION)
10. ท้องเสีย (DIARRHEA)
11. ถ่ายปัสสาวะขัด ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเจ็บ (DYSURIA)
12. ตกขาวผิดปกติ (VAGINAL DISCHARGE)
13. อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน (SKIN RASH/LESION)
14. บาดแผล (WOUND)
15. ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตา (EYE DISORDER)
16. ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหู (EAR DISORDER)


สำหรับร้านยาที่เข้าร่วมโครงการจะมีสติ๊กเกอร์แปะไว้ว่า ‘ร้านยาคุณภาพของฉัน’ หรือ ตรวจสอบรายชื่อร้านยาในโครงการได้ที่ เว็บไซต์ สปสช. (www.nhso.go.th/downloads/204) หรือสายด่วน สปสช. 1330

ร้านยาดังกล่าวจะมีเภสัชกรคอยแนะนำการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้น และหลังจากได้รับยาไปแล้ว 3 วัน จะมีการติดตามผลการใช้ยาว่าผู้ป่วยดีขึ้นหรือไม่อย่างไร สำหรับระบบการบันทึกการให้บริการ การจ่ายยา การติดตามอาการ และขั้นตอนการเบิกจ่ายค่าบริการจะดำเนินการผ่านระบบ A-MED Care Pharma ที่พัฒนาโดย สวทช.

ระบบ A-MED Care Pharma นอกจากจะแก้ไขปัญหาความแออัดของโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสาธารณสุขแล้ว ยังประชาชนให้เข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง สามารถรับยาใกล้บ้านได้สะดวก รวดเร็ว ลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับการดูแลสุขภาพให้มีคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งแบ่งเบาภาระงานของโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ นับเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลของประเทศไทย


ขอบคุณที่มาโดย :
  • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) l 16 ส.ค. 2566
  • อาทิตย์ ลมูลปลั่ง. นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช.
  • Facebook: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

    ขอบคุณภาพโดย : Freepik

    อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่