Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

NEWS

    

มะนีมะนาว แก้ปัญหามะนาวแพง ผลิต ‘น้ำมะนาวคั้นสด’ คงรส-กลิ่น ด้วยนวัตกรรม

“มะนาว"

ชวนรู้จัก ‘มะนีมะนาว‘ น้ำมะนาวคั้นสดเก็บได้นาน 2 ปี คงกลิ่นรสชาติเดิม นักวิจัยนาโนเทคใช้นวัตกรรมแช่เยือกแข็งพิเศษ เกรดพรีเมียม ล็อคราคาเดียวตลอดปี

“มะนีมะนาว” น้ำมะนาวคั้นสดแช่เยือกแข็ง ผลิตภัณฑ์ที่แบ็กอัปด้วยเทคโนโลยีจากศูนย์นาโนเทค สวทช.ในการสร้างความพิเศษโดยสามารถคงคุณภาพตามธรรมชาติ (กลิ่น รส สี) ไว้ดังเดิม

การันตีด้วยผลทดสอบจากเครื่อง Lime ID ที่ใช้เทคโนโลยีจมูกอิเล็กทรอนิกส์ (E-Nose) ผสานกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการประมวลผล ช่วยสร้างโซลูชันกักเก็บน้ำมะนาวให้ทานได้นานขึ้น ก้าวข้ามปัญหาผลผลิตขาด-ล้นตลาด

“วิจัยนาโนเทค"

เกษคง พรทวีวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด ธุรกิจอาหารแปรรูปพืชผลทางการเกษตร มองเห็นปัญหาความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร ที่ทำให้ทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรได้รับผลกระทบทั้งสองฝ่าย จึงนำมาสู่แนวคิดการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา

เริ่มแรกนำมะนาวสายพันธุ์ตาฮิติไร้เมล็ดมาคั้นสด บรรจุใส่ถุงผ่านกระบวนการแช่แข็ง ให้เป็นน้ำมะนาวที่มีราคาเดียวตลอดทั้งปี แต่ผลิตภัณฑ์แช่แข็งมีข้อเสียคือ รสชาติและกลิ่นจะเปลี่ยนไป ทำให้ผู้บริโภคและร้านอาหารไม่นิยมใช้

กระทั่งนำโจทย์เข้าหารือนักวิจัยที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีเทคโนโลยีที่จะพัฒนาให้มีความแตกต่างจากมะนาวแช่แข็งทั่วไป

ปัจจุบันมะนีมะนาวอยู่ในตลาดมาถึง 3 ปี และมีการเติบโต 100% ในทุกๆ ปี แผนในอนาคตคือ การนำส่วนเหลือจากกระบวนการผลิต เช่น เปลือกมะนาว ไปสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากเศษเหลือเหล่านี้สร้างขยะให้สิ่งแวดล้อมอย่างมาก ดังนั้น บริษัทจึงกำลังเร่งมือเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว

“โจทย์สำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมอาหารคือ อาหารปลอดภัย (food safety) เราจึงคำนึงถึงสิ่งนี้เป็นหลัก นอกจากนี้ที่เลือกวิธีการทำแช่แข็ง เพราะตอบโจทย์ตลาดมากว่าสเปรย์-ฟรีซดราย เนื่องจากตลาดยังไม่ยอมรับ” เกษคง กล่าว

“เอไอ"

เอไอประเมินคุณภาพ

กิตติวุฒิ เกษมวงศ์ หัวหน้าทีมวิจัยกระบวนการระดับนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร นาโนเทค กล่าวว่า คุณภาพที่ลดลงของน้ำมะนาวแช่แข็งเกิดจากเอนไซม์ในน้ำมะนาว ทำให้คุณภาพ (กลิ่น สี และรส) เปลี่ยนไป

โดยทั่วไปวิธีลดการทำงานของเอนไซม์จะใช้การพาสเจอไรซ์ที่ใช้ความร้อน เปรียบเสมือนการต้ม แต่ความร้อนจะส่งผลต่อคุณภาพน้ำมะนาว จึงออกแบบกระบวนการแช่เยือกแข็งที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งสามารถลดการทำงานของเอนไซม์มากกว่า 50%

เมื่อนำน้ำมะนาวแช่เยือกแข็งที่มาทำละลาย เทียบเคียงน้ำมะนาวสดที่แช่ในตู้เย็นไว้หลายวัน พบว่าคุณภาพดีกว่าน้ำมะนาวสดที่เก็บในรูปของเหลวในระยะเวลาเท่ากัน

ทั้งนี้ น้ำมะนาวแช่แข็งด้วยกระบวนการที่ปรับปรุง สามารถเก็บได้นานกว่า 2 ปี เมื่อนำไปทำละลายแล้ว สามารถเก็บในรูปของเหลวได้นาน 1-2 สัปดาห์โดยที่กลิ่น สี และรสเทียบเคียงมะนาวสด และจะเก็บรักษาในอุณหภูมิแช่เย็นได้อีก 2-3 เดือนโดยมีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ยอมรับได้

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้พัฒนาเครื่องประเมินคุณภาพกลิ่น-รสของน้ำมะนาว ในชื่อ Lime ID ที่ใช้เทคโนโลยีจมูกอิเล็กทรอนิกส์ (E-Nose) ผสานกับเอไอในการประมวลผล เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของน้ำมะนาวที่ชัดเจน

เนื่องจากการตรวจสอบคุณภาพของน้ำมะนาว ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการดม การชิม ว่า กลิ่นและรสไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามการใช้คนมาทดสอบ มีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งในเรื่องของความแม่นยำ ปริมาณการทดสอบ ที่บางครั้งไม่สามารถควบคุมได้ การนำปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีเข้ามาเสริมนับเป็นทางเลือกหนึ่ง

“ในทุกๆ ล็อตเราจะใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์โน้ตเพื่อตรวจสอบคุณภาพของน้ำมะนาว ซึ่งให้ความแม่นยำสูงเพื่อล็อกรสชาติให้คงที่เพราะน้ำมะนาวรสชาติเพี้ยนไปแค่ 0.1% ทำให้คุณภาพของสินค้า 99% เสียหาย เราต้องเริ่มจากสอนคน แล้วให้คนสอนเครื่อง จากนั้นจะวัดผลเทียบเป็นคะแนน” กิตติวุฒิ กล่าว

“ไร่กาญจนา"

วัตถุดิบต้องดีตั้งแต่ต้นน้ำ

อเนก ประสม เจ้าของ “ไร่กาญจนา” จ.ลำปาง หนึ่งในเกษตรกรที่ทำงานร่วมกับมะนีมะนาว กล่าวว่า เริ่มทำสวนมะนาวตั้งแต่ปี 2540 โดยเป็นรายแรกของลำปางที่ปลูกสายพันธุ์ตาฮิติ เพราะทนโรค ทนแดดและต้านทานแมลงศัตรูพืชได้ดี ปัจจุบันมีพื้นที่สวนมะนาวมากกว่า 40 ไร่ ได้รับมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร

“จุดสำคัญที่สุดคือ พ่อค้าคนกลางไม่ยอมรับมะนาวตาฮิติ แม้ว่าบางปีมะนาวแป้นจะติดผลน้อย เกษตรกรต้องอัดสารเคมีในต้นเพื่อให้ได้ผลผลิต เราจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดของพ่อค้าคนกลางให้ยอมรับมะนาวตาฮิติ”

ในการทำงานร่วมกับ “เชียงใหม่ไบโอเวกกี้” เริ่มจากทางบริษัทได้รับข้อมูลจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมว่า ให้โรงงานเข้ามาช่วยเกษตรกร (4-5 ปีที่แล้ว) กระทั่งพบโจทย์ว่า “ไม่มีคนซื้อมะนาว” ทางบริษัทจึงเข้ามาในพื้นที่ดูว่าจะสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง ทำให้มะนาวในไร่กาญจนาถูกนำไปใช้ประโยชน์ แปรรูปจนเป็นน้ำมะนาวคั้นสดดังกล่าว

“พืชนี้เข้ามาเสริมการเกษตรระดับตำบล สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างรายได้หลักเพราะขายได้ตลอดปี ในขณะเดียวกันก็เกิดการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกมะนาวบ้านแจ้คอน ต.ทุ่งผึ้ง จ.ลำปาง มีสมาชิกอยู่ราว 60 คน ได้ผลผลิตมะนาววันละ 10-38 ตัน หรือปีละกว่า 1 ล้านกิโลกรัม โดย 90% ส่งให้กับบริษัท เชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด มากว่า 5 ปีแล้ว”

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1078553