Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

NEWS

    

3 กลุ่มเสี่ยงสุขภาพจิต เมื่อเผชิญเหตุวิกฤต MCATTต้องเยียวยาภายใน 72 ชั่วโมง

“สุขภาพจิต"

ทุกเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบต่อจิตใจของผู้คน ทีม MCATT จะต้องเข้าถึงพื้นที่ภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อดูแลเยียวยาจิตใจในระยะวิกฤติ ประเมินคัดกรองแยกเป็น 3 กลุ่ม

ผลกระทบเมื่อเผชิญวิกฤต

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตทุกครั้งจะมีผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม การเกิดสถานการณ์วิกฤตแต่ละเหตุการณ์ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สิน เป็นจำนวนมาก เกิดปฏิกิริยาทางจิตใจทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม มีความรุนแรงหรือไม่รุนแรงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

- ทำให้ประชาชนเกิดอาการช็อค ตื่นตระหนก ตื่นกลัว เสียขวัญ เสียใจ โกรธ

- เกิดภาวะเครียด และส่งผลต่อจิตใจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

- เกิดความผิดปกติและโรคทางจิตเวช เช่น โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Post-Traumatic Stress Disorders: PTSD) ภาวะซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย และการติดสุรา/สารเสพติด

ทั้งนี้ จากการวิจัยติดตามปัญหาสุขภาพจิตของผู้ได้รับผลกระทบหรือสูญเสียจากภัยพิบัติ พบว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือสูญเสียจากเหตุการณ์สึนามิภาคใต้ของประเทศไทยหลังเหตุการณ์ ในนพ.ศ.2548 13.3 % และหลังเหตุการณ์ 3 ปี ใน พ.ศ.2551 2.7 % เป็นโรคซึมเศร้า ,13.4% วิตกกังวล และ 15.3 % มีความทุกข์โศก และจากเหตุการณ์ดินโคลนถล่มที่จังหวัดอุตรดิตถ์ พบว่าผู้ประสบภัย 29 %มีปัญหา สุขภาพจิต, 10.7% เครียดภายหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ, 3.3% ภาวะซึมเศร้า และ 11.6% ติดสุรา

จุดเริ่มต้น MCATT

หากย้อนไปในช่วงก่อนที่จะสึนามิในประเทศไทยเมื่อปี 2547 มิติของการดูแลเยียวยาจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วิกฤต อาจไม่ได้มีการวางระบบอย่างชัดเจนนัก และต่อมาประเทศไทยเกิดภาวะวิกฤตสุขภาพจิตบ่อยขึ้น เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตการเมือง วิกฤตความรุนแรงทางภาคใต้ ของประเทศไทย ไข้หวัดนกระบาด โรคซาร์ส กระทั่ง ปี 2554 เกิดมหาอุทกภัย กรมสุขภาพจิต จึงได้มีการจัดตั้งทีมช่วยเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team: MCATT) หรือทีม MCATT

ทำหน้าที่เยียวยาจิตใจประชาชนที่ประสบภาวะวิกฤตให้ครอบคลุมทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล โดยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับทีมสาธารณภัยต่างๆ มุ่งเน้นการให้ความรู้ ทักษะ แนวทางเตรียมความพร้อมสำหรับบุคลากร ในระบบบริการสาธารณสุขและประชาชน ตั้งแต่ก่อนประสบภาวะวิกฤต การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจระหว่าง ประสบภาวะวิกฤต และการฟื้นฟูด้านจิตใจหลังประสบภาวะวิกฤต

องค์ประกอบทีม MCATT

ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team: MCATT) หมายถึง ทีมสหวิชาชีพที่ให้การช่วยเหลือทางด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักจิตวิทยาคลินิก/นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้รับผิดชอบงานด้านสุขภาพจิตและผู้ที่เกี่ยวข้อง

แบ่งโครงสร้างทีม MCATT เป็นระดับกรมสุขภาพจิต ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่ทีม MCATT ในพื้นที่, ให้การสนับสนุนทีม MCATT แก่เครือข่าย, ดูแลผู้ประสบภาวะวิกฤตกลุ่มเสี่ยงยุ่งยากซับซ้อน ที่ส่งต่อมาจากทีม MCATT ในพื้นที่, ให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต, ถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ ผู้ประสบภาวะวิกฤตให้แก่บุคลากรในเครือข่าย, จัดบริการด้านสุขภาพจิต และกิจกรรมการมีส่วนร่วม ของชุมชน (Empowerment) ในศูนย์พักพิง ขนาดกลางและใหญ่ ในพื้นที่ประสบภัยที่หน่วยงาน รับผิดชอบ และติดตามการดำเนินงานวิกฤตสุขภาพจิตในพื้นที

ส่วนระดับจังหวัดและอำเภอ ทำหน้าที่ประเมินคัดกรองและให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ ผู้ประสบภาวะวิกฤตในพื้นที่, ให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต, ประสานและให้การสนับสนุนทีม MCATT แก่เครือข่าย, ถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ ผู้ประสบภาวะวิกฤตให้แก่บุคลากรในเครือข่าย, รายงานผลการปฏิบัติงานตามขั้นตอน และติดตามการดำเนินงานวิกฤตสุขภาพจิตในพื้นที่

และระดับตำบล อสม. แกนนำชุมชน อาสาสมัครในชุมชน ประเมิน คัดกรองภาวะสุขภาพจิตเบื้องต้นและปฐมพยาบาล ทางจิตใจเบื้องต้น และรพ.สต. จัดทำฐานข้อมูลกลุ่มเสี่ยง หากพบผู้ที่มีปัญหา เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตให้รายงานทีม MCATT ระดับอำเภอ เป็นต้น

4 ระยะช่วยเหลือเยียวยา

สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤต ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกอบด้วย ผู้บาดเจ็บ ญาติผู้บาดเจ็บ / เสียชีวิต ผู้สูญเสียบ้าน / ทรัพย์สิน ผู้อยู่ในเหตุการณ์ ผู้รับรู้เหตุการณ์ และเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้การช่วยเหลือ ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ ส่วนใหญ่ต้องการความช่วยเหลือทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ โดยเฉพาะด้านจิตใจพบว่าจะมีความเครียด วิตกกังวล หวาดผวา ซึมเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง

ในการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤตของทีม MCATT แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่

1. ระยะเตรียมการ

2. ระยะวิกฤตและฉุกเฉิน แยกเป็นระยะวิกฤต ตั้งแต่เกิดเหตุ - 72 ชั่วโมงและ ระยะฉุกเฉิน 72 ชั่วโมง – 2 สัปดาห์

3. ระยะหลังเกิดเหตุการณ์ ช่วง2 สัปดาห์ - 3 เดือน

4. ระยะฟื้นฟู หลังเกิดเหตุการณ์ 3 เดือนขึ้นไป

3 ระดับกลุ่มเสี่ยง

การเข้าไปยังพื้นที่และประเมิน คัดกรองผู้ได้รับผลกระทบ จะแยกความเสี่ยงต้องเฝ้าระวัง เพื่อการติดตาม เป็น 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มเสี่ยงสูง (สีแดง) ผู้บาดเจ็บ, ญาติผู้เสียชีวิต, ผู้ที่มีความคิดฆ่าตัวตาย ในช่วง 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ

2. กลุ่มเสี่ยงปานกลาง (สีเหลือง) ผู้ที่อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียวของ, ผู้พิการ, ผู้สูงอายุติดบ้านหรือติดเตียง, ผู้มีประวัติใช้สารเสพติดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา, ผู้มีประวัติการรักษาทางจิตเวช, ผู้มีความเครียด กังวล ท้อแท้ สิ้นหวัง จนรบกวนการดำเนินชีวิต ในช่วง 2 สัปดาห์

3. กลุ่มเสี่ยงต่ำ/ไม่เสี่ยง (สีเขียว) ได้แก่ ผู้ที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสีแดงและสีเหลือง

หากไม่พบปัญหาสุขภาพจิตให้การช่วยเหลือตามสภาพของปัญหา ถ้ามีปัญหาสุขภาพจิต ทีม MCATT ให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ บำบัดรักษา หากไม่สามารถบริหารจัดการและช่วยเหลือได้ เช่น มีโรคทางกาย ผู้พิการ เด็กเล็ก มีปัญหาที่อยู่อาศัย เครื่องมือ ประกอบอาชีพ ควรส่งต่อให้หน่วยบริการสุขภาพหรือแหล่งช่วยเหลือทางสังคมอื่นๆ เพื่อการฟื้นฟูจิตใจและอาชีพ

รวมถึง มีการติดตามดูแลต่อเนื่องเป็นระยะจนกว่าจะหมดความเสี่ยง หากพบว่ายังมีปัญหาที่ต้องรับการรักษา ส่งต่อเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ กรณีการฟื้นฟูผู้ประสบภาวะวิกฤตเพื่อเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต โดยมีการจัด กิจกรรมเสริมพลัง ของคนในชุมชน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ในชุมชน และการสร้างความตระหนักในชุมชน และสรุปผลการปฏิบัติงานให้การช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภาวะวิกฤต แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่งต่อข้อมูล สรุปรายงานการปฏิบัติงานตามขั้นตอน

ผลเฝ้าระวังวิกฤตสุขภาพจิต

การเฝ้าระวังของทีม MCATT ระหว่าง1 ต.ค.2565-12พ.ค.2566

- รวม 231 เหตุการณ์

- ผู้ได้รับผลกระทบ 2,462 คน

- ได้รับการดูแลเยียวยาจิตใจ 2,218 คน

- เสี่ยงสูง830 คน เสี่ยงกลาง 454 คน เสี่ยงต่ำ 934 คน

ประเภทภัย

- อุทกภัยและดินโคลนถล่ม 46 เหตุการณ์

- พายุหมุนเขตร้อน 11 เหตุการณ์

- อัคคีภัย 30 เหตุการณ์

- ภัยหนาว 3 เหตุการณ์

- โรคระบาดในมนุษย์ 1 เหตุการณ์

- ภัยแล้ง 1 เหตุการณ์

- ภัยจากทุ่นระเบิดับระเบิด 25 เหตุการณ์

- ภัยจากการชุมนุมประท้วงก่อการจลาจล 1 เหตุการณ์

- ก่อวินาศกรรม 8 เหตุการณ์

- ภาวะวิกฤตทางสังคม 88 เหตุการณ์

- ภัยจากการคมนาคมและขนส่ง 17 เหตุการณ์

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1093954