Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

NEWS

    

สุขภาพดีเริ่มที่ลำไส้ รู้จัก 'ไมโครไบโอม' สมดุลดี สุขภาพดี

“ไมโครไบโอม"

โรงพยาบาลวิมุต จับมือ 'แอมิลิ (AMILI)' บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพด้านจุลชีพในลำไส้ นำเสนอนวัตกรรมในการตรวจ 'ไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหาร' และ การนำวิธีปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระ (Fecal Microbiota Transplantation: FMT) เข้าสู่ตลาดประเทศไทย

จุลินทรีย์ เป็นส่วนสำคัญในร่างกาย หากเกิดความไม่สมดุล อาจส่งผลต่อร่างกายและโรคต่างๆ อาทิ เบาหวาน ระบบหลอดเลือด ถัดมา คือ ระบบทางเดินอาหาร ท้องอืด ลำไส้แปรปรวน ติดเชื้อ ในบางกลุ่มอาจมีภาวะท้องผูกเรื้อรัง รวมถึง ระบบภูมิคุ้มกัน ท้ายที่สุด ยังส่งผลกระทบทางอารมณ์ สมาธิสั้น นอนไม่หลับ เป็นต้น

นายแพทย์กุลเทพ รัตนโกวิท แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหารและตับระบบประสาทและการเคลื่อนไหวทางเดินอาหาร หัวหน้าศูนย์ทางเดินอาหารและตับ รพ.วิมุต กล่าวว่า หลายคนอาจไม่ทราบว่าการดูแลสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการทำงานที่เป็นปกติของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย หากจุลินทรีย์ในลำไส้เกิดภาวะไม่สมดุล เราอาจเผชิญกับอาการเจ็บป่วยต่างๆ อาทิ ลำไส้แปรปรวน ท้องผูก ท้องเสียเป็นประจำ ระบบการเผาผลาญไม่ดี อาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนได้ง่ายๆ หรือมีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกันโดยไม่ทราบสาเหตุ

“อีกทั้ง การนอนไม่หลับ เครียด ในมุมของอารมณ์มีความเกี่ยวเนื่อง เนื่องจากความสมดุลผิดปกติไป หากนอนไม่หลับ ร่างกายไม่แข็งแรง ก็จะมีปัญหาตามมา ร่างกายจะเชื่อมโยงกัน เป็นบันไดขั้นต่อๆ ไป มีความผิดปกติจุดหนึ่งก็จะส่งผลต่อระบบอื่นๆ”

“สุขภาพ"

ตรวจ 'ไมโครไบโอม' ในระบบทางเดินอาหาร

ล่าสุด โรงพยาบาลวิมุต เดินหน้ายกระดับการดูแลรักษาสุขภาพแบบองค์รวมเพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุม ภายใต้กลยุทธ์ “Outside In” มุ่งเน้นการขับเคลื่อนธุรกิจเฮลท์แคร์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้ใช้บริการยิ่งขึ้น ตลอดจนเทรนด์สุขภาพยุคใหม่อย่างต่อเนื่อง ประกาศความร่วมมือกับ 'แอมิลิ (AMILI)' บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพด้านจุลชีพในลำไส้ พร้อมนำนวัตกรรมในการตรวจ 'ไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหาร' มาใช้ในโรงพยาบาล เตรียมเปิดแล็บภายในปีนี้

ไมโครไบโอม (Microbiome) เป็นชื่อเรียกระบบนิเวศของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นแหล่งรวมโพรไบโอติกทั้งตัวดีและไม่ดีที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย โดยหากไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหาร (Gut Microbiome) มีความสมดุล กล่าวคือ มีจุลินทรีย์ดีหลากหลายสายพันธุ์ในจำนวนมากพอ ก็จะช่วยทำหน้าที่ย่อยอาหาร เสริมการเผาผลาญ ดูแลระบบภูมิคุ้มกัน สังเคราะห์วิตามิน และช่วยปรับสมดุลให้ร่างกาย สมอง และอารมณ์ได้

“ศึกษาวิจัย"

ทั้งนี้ ‘ไมโครไบโอม’ ได้รับการศึกษาวิจัยมาอย่างต่อเนื่องและพบว่า การรักษาสมดุลของไมโครไบโอมในลำไส้ เป็นวิธีที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโดยรวมเพื่อป้องกันโรคร้ายและสร้างสุขภาพกายและใจที่ดีในระยะยาว ปัจจุบัน วงการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และความงามทั่วโลกให้ความสนใจการดูแลสุขภาพด้วยการปรับสมดุลจุลินทรีย์ให้ร่างกายทั้งภายในและภายนอก

ตลาด ‘ไมโครไบโอม’ ทั่วโลกมูลค่า 743 ล้านดอลลาร์

นายแพทย์พิชิต กังวลกิจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รพ. วิมุต เล็งเห็นถึงการตื่นตัวของคนไทยและทั่วโลกในเรื่องการดูแลสุขภาพก่อนล้มป่วย ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยวิเคราะห์ไมโครไบโอมในลำไส้กำลังเป็นเทรนด์สุขภาพมาแรง

โดย Research Reports World (RRW) เผยว่า ตลาดไมโครไบโอม ทั่วโลกมีมูลค่าถึง 743.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 และจะแตะ 3,523.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2571 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตแบบทบต้น (CAGR) ที่ 29.61%

"รพ. วิมุต มุ่งเสาะหานวัตกรรมใหม่ ๆ มาเสริมทัพบริการด้านสุขภาพให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดภายใต้กลยุทธ์ Outside-In เดินหน้าพัฒนาธุรกิจจากมุมมองของผู้ใช้บริการ เราได้ลงนามร่วมทุนกับแอมิลิ (AMILI) บริษัทเฮลท์เทคชั้นนำจากสิงคโปร์ที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านจุลชีพในลำไส้ เพื่อเปิดตัว Gut Microbiome Test โปรแกรมตรวจสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้เฉพาะบุคคลที่โรงพยาบาล พร้อมมุ่งช่วยให้คนไทยเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างตรงจุด ช่วยให้แพทย์สามารถแนะนำการปรับสมดุลจุลินทรีย์ให้เหมาะกับแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

"ในอนาคต รพ. วิมุต มีแผนจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยด้านไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหารแห่งแรกในไทย ร่วมกับ AMILI ช่วยยกระดับการศึกษาไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหารจากกลุ่มตัวอย่างคนไทยเพื่อนำข้อมูลไปใช้พัฒนาการรักษาโรคและผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับคนไทยโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาอาหารเสริมโพรไบโอติกส์เพื่อเสริมการรักษาโรคทางเดินอาหาร ลำไส้แปรปรวน และโรคอ้วน" นายแพทย์พิชิต กล่าวเสริม

“นายแพทย์พิชิต"

สำหรับ โปรแกรม Gut Microbiome Test ที่ รพ.วิมุต ช่วยตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้ผ่านการตรวจอุจจาระ เพื่อให้แพทย์สามารถวิเคราะห์ความสมดุล (Balance) และความหลากหลาย (Diversity) ของจุลินทรีย์ในลำไส้ และวางแผนการปรับสมดุลในลำไส้ ซึ่งรวมถึงการปรับการรับประทานอาหารและปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้คนไข้แต่ละคนได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ อาจแนะนำให้รับประทานโพรไบโอติกส์ที่มีสูตรและสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่เหมาะกับสุขภาพลำไส้ตามผลการตรวจจุลินทรีย์เฉพาะบุคคล เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากโพรไบโอติกส์

ตรวจ ไมโครไบโอม อย่างไร

สำหรับ ขั้นตอนการตรวจ Gut Microbiome Test เหมือนการตรวจอุจาระทั่วไป แต่ปัจจุบันยังไม่มีห้องปฏิบัติการในไทยต้องส่งไปแปรผลที่ห้องปฏิบัติการของ AMILI ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยใช้เวลาราว 14 - 21 วัน สามารถจัดกรุ๊ปตัวโรค มุ่งเป้าเรื่องความสมดุลได้แม่นยำ รวมถึง แนะนำเรื่องอาหาร ตรวจอาหาร การรักษา ครบวงจร

สามารถรู้ความเสี่ยงของโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน น้ำหนักเกิน ไขมัน หลอดเลือดหัวใจ กลุ่มภาวะภูมิคุ้มกัน เป็นต้น โดยช่วงอายุที่ควรตรวจ ยังไม่มีข้อห้ามด้านอายุ แต่ที่แนะนำ คือ หลังช่วงวัยรุ่น เพราะจุลินทรีย์ค่อนข้างนิ่ง

นายแพทย์เจเรมี ลิมป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง AMILI กล่าวว่า AMILI มีฐานข้อมูลและตัวอย่างไมโครไบโอมจากคนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งยังเป็นธนาคารไมโครไบโอมแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราได้พัฒนา 'AMILI PRIME' เครื่องมือวิเคราะห์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ที่ทำการทดสอบ วินิจฉัย ทำนายอัลกอริธึม และปรับเปลี่ยนไมโครไบโอมได้อย่างแม่นยำ

ความร่วมมือครั้งนี้ แสดงถึงความมุ่งมั่นของ รพ.วิมุต ในการยกระดับบริการสุขภาพขึ้นไปอีกขั้นผ่านนวัตกรรมการตรวจไมโครไบโอม เราจะร่วมกันนำเสนอการตรวจสอบสุขภาพลำไส้ และ การนำวิธีปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระ (Fecal Microbiota Transplantation: FMT) เข้าสู่ตลาดประเทศไทย AMILI พร้อมทำงานร่วมกับโรงพยาบาลเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ตามความตั้งใจของ รพ. วิมุตในการดูแลให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

“อุจจาระรักษาโรค"

อุจจาระ รักษาโรค

สำหรับ การปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระ (Fecal Microbiota Transplantation: FMT) เป็นอีกหนึ่งวิทยาการทางการแพทย์ วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ โดย สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงบรัสเซลส์อธิบายว่า หมายถึง การนำอุจจาระของคนที่มีสุขภาพแข็งแรง มีเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดีไปใส่ในลำไส้ของผู้ติดเชื้อ เพื่อเปลี่ยนไมโครไบโอตาในลำไส้และจัดการกับแบคทีเรียชนิดที่ก่อให้เกิดโรค

การรักษาแบบ FMT มีแนวคิดในการนำอุจจาระของผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง นำมาใส่ในลำไส้ใหญ่ของผู้ป่วย ระหว่างการส่องกล้องตรวจลำไส้ (colonoscopy) ซึ่งการนำจุลินทรีย์ที่มีชีวิตจากอุจจาระคนหนึ่งเข้าสู่ลำไส้ใหญ่อีกคน เสมือนเป็นการเปลี่ยนถ่ายหรือการนำสิ่งมีชีวิตไปใส่ จึงเรียกว่า Faecal Transplantation ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มศักยภาพของจุลินทรีย์ประจำถิ่นชนิดดีที่เสียหายจากการใช้ยาปฏิชีวนะ

อย่างไรก็ตาม การบริจาคอุจจาระไม่ใช่เรื่องง่าย นายแพทย์เจเรมี ลิมป์ อธิบายว่า "ที่ผ่านมา พบว่า คนสนใจบริจาคอุจจาระ จาก 100 คน สามารถบริจาคได้เพียง 2 คน หรือ 2% เท่านั้น โดยกระบวนการที่จะตรวจว่าสามารถบริจาคได้หรือไม่มีความยาวนานมาก ไม่ว่าจะการตรวจว่ามีเชื้อแบคทีเรียอันตรายจากการบริจาคหรือไม่"

นายแพทย์กุลเทพ กล่าวเสริมว่า "ในแง่ของการกระบวนการมีการคัดกรองหลายอย่าง เช่น อุจจาระคนสุขภาพดี มีการคัดกรองเชื้อโรค ส่วนประกอบต่างๆ กระบวนการทำความสะอาดสเตอไรด์ เพื่อให้เหลือเชื้อที่ดี โดยมีทั้งรูปแบบ แคปซูล และ ถุงแบนเก็บในความเย็นสูง การเลือกใช้และปริมาณ ขึ้นอยู่กับความเจ็บป่วยของคนไข้ ทั้งนี้ การทานโพรไบโอติกส์ส่วนใหญ่จะเน้นการป้องกัน ส่วน FMT จะเน้นการรักษา"

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1108862