Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

NEWS

    

หมดยุคโควิด ไฟเซอร์เบนเข็มมุ่งยารักษามะเร็งฟื้นรายได้

“ไฟเซอร์"

ไฟเซอร์ ประกาศหันพัฒนายา-กระบวนการรักษามะเร็งแบบเต็มตัว หลังธุรกิจโควิดเริ่มถึงทางตัน หวังฟื้นธุรกิจ-ความเชื่อมั่นนักลงทุน หลังปี 2023 หุ้นร่วงกว่า 40% ลั่นเตรียมเปิดตัวยารักษามะเร็งรุ่นใหม่ลงตลาด 3 ตัวภายในปี 2030

ขณะที่การสร้างรายได้จากวัคซีนและผลิตภัณฑ์สุขภาพเกี่ยวกับโควิด-19 เริ่มถึงทางตัน ไฟเซอร์หนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ ประกาศปรับทิศธุรกิจครั้งใหญ่หันไปโฟกัสกับการพัฒนายาและกระบวนการรักษาโรคมะเร็งแทน รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนายาจากยาโมเลกุลเล็ก เป็นยาชีวภาพอีกด้วย

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2567 ไฟเซอร์ ประกาศทิศทางธุรกิจใหม่ที่มุ่งจับตลาดยาและการรักษามะเร็ง 4 ชนิด คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งทางเดินปัสสาวะ มะเร็งทรวงอก และมะเร็งเม็ดเลือด แทนวัคซีนโควิด-19 ซึ่งดีมานด์ลดลงต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะดีดกลับ

ซึ่งการประกาศนี้อาจไม่ใช่เพียงการลองหยั่งเชิงในตลาดใหม่เหมือนที่ผ่าน ๆ เพราะบริษัททุ่มเงินซื้อเวลาโฆษณานาน 60 วินาทีระหว่างการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลซูเปอร์โบลว์ ซึ่งเป็นสล๊อตโฆษณาราคาแพงเป็นอันดับต้น ๆ ของวงการทีวีสหรัฐ เพื่อแพร่ภาพภาพยนตร์โฆษณาธุรกิจใหม่

พร้อมกันนี้ ไฟเซอร์ยังตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ “ธุรกิจเนื้องอกวิทยา” ขึ้นมาเพื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับเนื้องอกวิทยาโดยเฉพาะ ซึ่งรวมทรัพยากร ทีมงาน และงานวิจัยของทั้งไฟเซอร์เอง และของซีเจน บริษัทผู้ผลิตยารักษามะเร็งแบบพุ่งเป้าซึ่งไฟเซอร์ซื้อกิจการเข้ามามารวมกัน ทำให้จำนวนยารักษามะเร็งในไปป์ไลน์ของไฟเซอร์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจาก 30 ตัว เป็น 60 ตัว

ขณะเดียวกันยังแย้มว่า ด้วยการมียาระหว่างการพัมนามากถึง 60 ตัวนี้ทำให้ภายในปี 2030 บริษัทจะมียารักษามะเร็งที่ใช้งานได้จริงและได้รับความนิยมสูงอย่างน้อย 8 ตัวออกสู่ตลาด จากปัจจุบันที่มีเพียง 5 ตัวเท่านั้น

คริส บอชอฟ ผู้บริหารมือดีที่อยู่กับไฟเซอร์มาอย่างยาวนานและอดีตหัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาโรคมะเร็ง ผู้กุมบังเหียนหน่วยธุรกิจใหม่นี้ อธิบายว่า หน่วยธุรกิจเนื้องอกวิทยาจะเน้นพัฒนายาชีวภาพ หรือการรักษาด้วยสเตมเซลล์ วัคซีน และยีนบำบัด ตามเป้าเพิ่มสัดส่วนการรักษาด้วยยาชนิดนี้จาก 6% เป็น 65% ภายในปี 2030 แทนยาแบบโมเลกุลเล็กที่ผลิตจากกระบวนการทางเคมีซึ่งมีสัดส่วนถึง 94% ของพอร์ตโฟลิโอยารักษามะเร็งของไฟเซอร์

แม้ไฟเซอร์จะไม่เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ยอดขายของกลุ่มยารักษามะเร็งเมื่อสิ้นสุดแผนการณ์ในปี 2030 แต่ระบุว่า ภายในสิ้นปี 2030 คาดว่า 2 ใน 3 ของรายได้ด้านยารักษามะเร็งหลังปรับตามความเสี่ยงแล้ว จะมาจากยาใหม่, การใช้ยาที่มีอยู่แล้วกับข้อบ่งชี้ใหม่ ๆ หรือการใช้กระบวนการรักษามะเร็งที่มีอยู่แล้ว

ทั้งนี้นักวิเคราะห์ในวงการลงทุนคาดว่า การเปลี่ยนแผนนี้เป็นความพยายามของไฟเซอร์หลังปี 2023 มูลค่าหุ้นของบริษัทลดลงไปถึง 40% ทำให้มูลค่าของบริษัทหายไปกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากดีมานด์สินค้าเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ลดลงอย่างต่อเนื่อง และความล้มเหลวในการพัฒนาสินค้าใหม่อย่าง ยาเม็ดลดความอ้วนที่ไม่ผ่านการทดลองทางคลินิก หรือผลตอบรับที่ย่ำแย่ของวัคซีน RSV (ไวรัสโรคทางเดินหายใจ)

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/marketing/news-1523459