Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

NEWS

    

' โรคกระดูกพรุน ' ไม่ได้เกิดเฉพาะสูงวัย คนวัยทำงานก็เป็นได้

“โรคกระดูกพรุน"

เมื่อกล่าวถึง 'โรคกระดูกพรุน' ส่วนใหญ่มักจะถูกมองว่าเกิดขึ้นในกลุ่มของผู้สูงอายุเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริง 'หนุ่มสาวคนวัยทำงาน' ก็มีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน

ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดหลายโรค ซึ่ง 'โรคกระดูกพรุน' เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกัน เพราะสิ่งที่ส่งผลให้มวลกระดูกลดลง เช่น

- ขาดวิตามินดี วิตามินดีมีส่วนช่วยร่างกายดูดซึมแคลเซียมไปสร้างมวลกระดูก

- ขาดแคลเซียม ในแต่ละวันอาจได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ รวมถึงยาและอาหารบางชนิดก็ไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้

- คาเฟอีนและแอลกอฮอล์ หากบริโภคเป็นประจำหรือมากเกินไป จะไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมที่เราควรจะได้รับจากอาหาร

- ยาที่มีสเตียรอยด์ หากรับประทานยาที่มีสารสเตียรอยด์ปริมาณมากและเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อมวลกระดูกได้

- ไม่ออกกำลังกาย หากขาดการออกกำลังกายจะส่งผลต่อความหนาแน่นของกระดูกและทำให้กระดูกเปราะบางได้

ทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด 'โรคกระดูกพรุน' ในคนวัยทำงาน เช่นเดียวกับ คนในผู้สูงอายุ ที่ไม่ใช่เกิดจากอายุเพียงอย่างเดียว

โรคกระดูกพรุน เกิดขึ้นได้อย่างไร?

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือ โรคที่ความหนาแน่นและมวลของกระดูกลดน้อยลงจนทำให้กระดูกเสื่อม เปราะบาง ผิดรูป และมีโอกาสแตกหักได้ง่าย ในผู้ป่วยบางรายกระดูกพรุนมีผลให้ส่วนสูงลดลง เนื่องจากมวลกระดูกผุกร่อน ผลจากโรคกระดูกพรุนคือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก เนื่องจากกระดูกสามารถรับน้ำหนัก แรงกระแทก หรือแรงกดได้ลดลง

โดย จุดเสี่ยงกระดูกหักจากกระดูกพรุนบริเวณที่มักเกิดกระดูกหักจากกระดูกพรุน ได้แก่

- กระดูกสันหลัง

- สะโพก

- ข้อมือ

ย้ำปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด 'โรคกระดูกพรุน'

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคกระดูกพรุน ได้แก่

- อายุที่เพิ่มมากขึ้น เมื่ออายุเพิ่มขึ้น มวลกระดูกจะเปราะบางและแตกหักง่ายหากถูกกระทบกระเทือนแม้ไม่รุนแรงก็ตาม

- การลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ส่วนในเพศชายจะมีความเสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่อมีการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) น้อยลง

- กรรมพันธุ์ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน

- ความผิดปกติในการทำงานของต่อมและอวัยวะต่าง ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ไตและตับ

- โรคและการเจ็บป่วย เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคมะเร็งกระดูก

- การบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในการสร้างกระดูกและการเจริญเติบโต หรือกินอาหารที่ทำให้แคลเซียมเสียสมดุล

- การใช้ยาบางชนิดที่ออกฤทธิ์รบกวนกระบวนการสร้างกระดูก เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์

โรคกระดูกพรุนเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

พญ. อติพร เทอดโยธิน ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่าโรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ แต่ใช่ว่าในกลุ่มคนวัยทำงานจะเกิดไม่ได้ และมักเกิดกับเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

“อติพร

“ผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนประมาณ 33% ส่วนเพศชายจะอยู่ประมาณ 20% โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เพราะกระดูกของผู้หญิงมีขนาดเล็กกว่า และเมื่อผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงที่ช่วยยับยั้งการสลายตัวของกระดูกจะลดลง ส่งผลให้กระดูกสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว”

กระดูกพรุน-กระดูกเสื่อม ต่างกันอย่างไร

ในผู้สูงอายุยังมีอีกโรคหนึ่งที่มักพบเจอได้บ่อย ๆ นั่นคือ โรคกระดูกเสื่อม ซึ่งมีความแตกต่างจากโรคกระดูกพรุนตรงที่จะทำให้เรารู้สึกปวดหรือเคลื่อนไหวได้ลดลงตรงข้อที่มีการเสื่อมสภาพ

ส่วนโรคกระดูกพรุนนั้นทำให้กระดูกบางลง คุณภาพเเละความเเข็งเเรงของกระดูกลดลง มีผลให้กระดูกต่างๆในร่างกายหักง่าย โดยอาจไม่มีสัญญาณเตือนใดๆมาก่อนเลย จริง ๆ แล้ว

นอกจากผู้สูงอายุ โรคกระดูกทั้งสอง สามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยเสี่ยงอื่นๆอีก เช่น ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือผู้ป่วยที่ใช่ยาประเภทสเตียรอยด์ เป็นต้น

เช็กอาการโรคกระดูกพรุน

ด้าน ศ.พล.ต.นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ศัลยแพทย์โรคกระดูกและข้อ ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าคนจำนวนมากไม่ทราบว่าสภาวะกระดูกของตนเองนั้นบางไปมากน้อยเพียงใดแล้ว และไม่ได้สนใจที่จะดูแลป้องกันภาวะกระดูกพรุนอย่างจริงจัง

เนื่องจากโรคกระดูกพรุนมักไม่มีอาการเตือนใด ๆ ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคกระดูกพรุนจนเกิดอุบัติเหตุและนำไปสู่ภาวะกระดูกหัก อาการบ่งชี้อื่น ๆ ที่ควรใส่ใจและหมั่นสังเกต เพื่อให้สามารถรักษาและป้องกันโรคกระดูกพรุน ได้แก่

- ปวดหลังเรื้อรัง

- หลังค่อมหรือกระดูกสันหลังส่วนบนโค้งลง

- ความสูงลดลง

อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกจะสังเกตไม่เห็นอาการ แต่หากพบว่าส่วนสูงเริ่มลดลง มีอาการหลังค่อมต่อมารู้สึกปวดที่กระดูกโดยปวดลึกๆ ที่กระดูก เช่น ที่กระดูกหลังขา กระดูกจะหักง่ายเมื่อล้ม

โรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกน้อยลงจากการสะสมกระดูกน้อยเกินไปในขณะที่กำลังเจริญเติบโต หรือมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างมากหลังจากเจริญเติบโตเต็มที่แล้วทำให้กระดูกเปราะบางไม่สามารถรับน้ำหนัก และแตกหักตามมาอาจเกิดมาจาก 2 ปัจจัย คือ พันธุกรรมและการดำเนินชีวิตที่มีผลต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้เร็วขึ้น

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน

กระดูกประกอบด้วยเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast) ทำหน้าที่สร้างกระดูกขึ้นมาใหม่จากแคลเซียมและโปรตีนตามกระบวนการการเจริญเติบโตของร่างกายและช่วยทดแทนกระดูกส่วนที่สึกหรอ และภายในกระดูกยังมีเซลล์สลายกระดูก (Osteoclast) ทำหน้าที่สลายเนื้อกระดูกเก่า

โรคกระดูกพรุนเกิดจากการทำงานที่ไม่สมดุลกันของเซลล์กระดูกทั้ง 2 ชนิดจึงทำให้มีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูกเกิดขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากการที่ปริมาณแคลเซียมในร่างกายไม่เพียงพอต่อกระบวนการสร้างกระดูก หรืออาจมีความผิดปกติของเซลล์กระดูก

กลุ่มคนเสี่ยงที่เป็นภาวะโรคกระดูกพรุน

- วัยทำงานที่ต้องทำงานออฟฟิศทั้งวัน ไม่โดนแดดประจำ

- หญิงวัยหมดประจำเดือน

จะพบว่ามีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียเนื้อกระดูกมากขึ้น 10% ภายใน 5 ปีแรกที่หมดประจำเดือน

อายุ 40 ปี : ร่างกายจะมีการสูญเสียเนื้อกระดูกไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ ทั้งในชายและหญิงประมาณ 0.5 – 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

อายุ 50 ปี : ในคนเอเชียพบว่าจะมีการสูญเสียเนื้อกระดูกเพิ่มมากขึ้นเป็น 3 – 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี หลังจากช่วงนี้แล้วอัตราการสูญเสียเนื้อกระดูกจะลดลงเข้าสู่แบบเดิมคือ ประมาณ 0.5 – 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

- ผู้สูงอายุเกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

- กลุ่มคนขาดวิตามินดี และแคลเซียม

โดยปริมาณแคลเซียมที่ได้รับและเก็บสะสมไว้ในขณะนั้น ซึ่งปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสมของแต่ละช่วงอายุมีดังนี้

- เด็ก (1-9 ปี) ปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสม 800 (มก./วัน)

- วัยรุ่น (10-19 ปี) ปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสม 1,200 (มก./วัน)

- ผู้ใหญ่ (20-60 ปี) ปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสม 800 (มก./วัน)

- หญิงมีครรภ์และให้นมบุตร ปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสม 1,200 (มก./วัน)

- หญิงวัยหมดประจำเดือน ปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสม 1,000 (มก./วัน)

- วัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสม 800 (มก./วัน)

- ถ้าได้รับปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอในแต่ละวัย ก็เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนมากขึ้น

นอกจากนั้น ผู้ที่มีโรคบางชนิด หรือรับยาบางชนิด อย่าง

- ผู้ที่มีโรคที่ทำให้กระดูกบางลง เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ, โรคทางลำไส้ดูดซึมอาหารไม่ดี (ควรตรวจช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือช่วงจะหมดประจำเดือน ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอตลอดเวลาด้วย)

- ผู้ที่จะต้องรับยาที่ทำให้มีการสูญเสียเนื้อกระดูกมากกว่าปกติ เพื่อช่วยในการรักษาโรคต่างๆ (ถ้าได้รับยาสเตียรอยด์ปริมาณมากเพื่อควบคุมโรค ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเพื่อพิจารณาเวลาที่เหมาะสมในการติดตามดูปริมาณเนื้อกระดูก เพราะผู้ป่วยแต่ละคนจะได้รับยาในปริมาณที่แตกต่างกัน)

- ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งสองข้างในช่วงก่อนหมดประจำเดือน (ควรตรวจหลังจากการทำผ่าตัดแล้วติดตามอีก 1-2 ครั้ง ภายในช่วง 5 ปีแรกหลังการผ่าตัด)

“กระดูก"

ภาวะแทรกซ้อนโรคกระดูกพรุน

เมื่อเกิดโรคกระดูกพรุน ปัญหาหลักที่มักตามมา คือ ความเจ็บปวดจากภาวะกระดูกทรุดตัวและอาการปวดหลัง ทำให้เคลื่อนไหวได้จำกัดและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันลดลง อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า

นอกจากนี้หากเกิดการกระแทก มีโอกาสกระดูกหักสูง โดยเฉพาะการแตกหักบริเวณกระดูกสะโพกจะทำให้ผู้ป่วยเดินไม่ได้ ขยับตัวลำบาก เพราะความเจ็บปวด ต้องนั่งหรือนอนอยู่กับที่ตลอดเวลา ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคและอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิต เช่น เกิดแผลกดทับหรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน

การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนทำได้โดยการตรวจทางรังสี เพื่อตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก ใช้เวลาไม่นาน ปริมาณรังสีที่เข้าสู่ร่างกายในขณะสแกนต่ำ ไม่ทำให้เจ็บหรือปวด เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากในการประเมินความหนาแน่นของมวลกระดูก ทำให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มของโรค

ทั้งนี้ค่าความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density หรือ BMD) ของคนปกติจะอยู่ที่มากกว่า -1.0 ส่วนคนที่มีภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) จะมีค่า BMD อยู่ระหว่าง -1.0 ถึง -2.5 และผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจะมีค่า BMD น้อยกว่า -2.5

แนวทางการรักษาโรคกระดูกพรุน

เนื่องจากโรคกระดูกพรุนเกิดจากภาวะกระดูกเสื่อมที่มาจากหลายสาเหตุ หลักการรักษาจะกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกและลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูก มีทั้งการรับประทานยา การฉีดยา และการเพิ่มฮอร์โมน ได้แก่

การรักษาด้วยยา มีทั้งการรับประทานยาและการฉีดยา ตัวอย่างยาที่ใช้รักษา เช่น

- ยาอะเลนโดรเนท มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเซลล์สลายกระดูก ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมไปใช้ในกระบวนการสร้างกระดูกเพิ่มขึ้น

- ยาไรซีโดรเนท ออกฤทธิ์ต่อเนื้อเยื่อกระดูก ลดอัตราการสลายตัวของกระดูกและเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก

- ยาไอแบนโดรเนท ออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูก โดยมีทั้งแบบยาเม็ดรับประทานและยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ

- ยาโซลิโดรนิก แอซิด ยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ช่วยลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูก ออกฤทธิ์ยับยั้งการปล่อยแคลเซียมสู่กระแสเลือด ป้องกันภาวะแคลเซียมในเลือดสูง

การรักษาโดยการเพิ่มฮอร์โมนบางชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างกระดูก เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจนในวัยหมดประจำเดือน หรือผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกไป ซึ่งร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ในระดับปกติ

วิธีการป้องกันโรคกระดูกพรุน

“แม้ว่าโรคกระดูกพรุนจะพบมากในผู้สูงวัย แต่สิ่งที่เราทำได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ คือการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงไว้ตั้งแต่วัยรุ่น และหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปีโดยไม่ต้องรอให้เจ็บหนัก หากพบว่ามีความเสี่ยงหรือเป็นโรคกระดูกพรุนจะได้รักษาได้ทันเวลา เพื่อให้เรามีสุขภาพที่ดี และมีความสุขได้ในทุก ๆ วัน” พญ. อติพร เทอดโยธิน กล่าว

โดยการดูแลสุขภาพและบำรุงกระดูก สามารถลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนได้ ดังนี้

- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง

- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

- หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน และมีค่าความเป็นกรดสูง

- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

- ระมัดระวังการใช้ยา โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์ที่ต้องใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

- อย่า ทานโซเดียมหรือเกลือมากเกินไป

- ยาหลายชนิดโดยเฉพาะสเตียรอยด์ ยากลุ่มนี้จะทำให้มีการสลายของกระดูกมากขึ้น จนเกิดภาวะกระดูกพรุนจะมีอาการปวดหลังปวดกระดูกตามมา

- คนที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ (Hyperthyroidism) และโรค Cushing

- ลักษณะการดำเนินชีวิต (Lifestyle) การทำงานออกแรง และการออกกำลังกายจะทำให้เกิดแรงกดที่กระดูก ซึ่งจะทำให้ร่างกายเสริมกระดูกให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

นอกจากนี้มีการศึกษาเกี่ยวกับโปรตีนถั่วเหลือง ไอโซฟลาโวน (Isoflavones) พบว่ามีคุณสมบัติใกล้เคียงกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเนื้อเยื่อกระดูก เมื่อทำงานร่วมกับแคลเซียม อาจจะช่วยป้องกันภาวะกระดูกเสื่อมและลดอัตราการแตกหักของกระดูกได้

ตรวจร่างกายดูว่ากระดูกพรุนได้อย่างไร

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density : BMD) โดยเครื่องมือที่อาศัยหลังการ ทางการเอ็กซเรย์เป็นหลักเครื่องนี้จะวัดว่ากระดูก มีเนื้อหรือมวลกระดูกมากน้อยเพียงใด และนำค่าที่วัดได้มาเปรียบเทียบกับค่ามวลกระดูกมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันใช้ค่ามวลกระดูกของสตรีชาวญี่ปุ่นเป็นหลัก การเอ็กซเรย์ธรรมดาไม่สามารถจะใช้ตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกได้ จนกว่ากระดูกบางไปมากเกินกว่าครึ่งแล้วซึ่งถือว่าช้าเกินไป

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1094775

อ้างอิง:โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ,โรงพยาบาลวิมุต ,โรงพยาบาลนนทเวช