Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

NEWS

    

'เมดิคัลฮับ' รายรับเพิ่ม 47 % Post-COVID 19 โอกาสของไทย

“เมดิคัลฮับ"

โอกาสเมดิคัลฮับ ไทยปี 64 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ติดอันดับ 5 ของโลก รายรับค่ารักษาพยาบาลจากชาวต่างชาติประมาณ 11,903 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47 % คาดว่าปี 70 อุตสาหกรรมการแพทย์สร้างรายได้เข้าประเทศถึง 8 แสนล้านบาท

นโยบาย Medical Hub ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทางการแพทย์ครบวงจรและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) ซึ่งปี 2564 Medical Tourism Association จัดอันดับให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยติดอันดับ 5 ของโลก ทั้งนี้ยุค Post-COVID 19 ยิ่งเป็นโอกาสของไทยมากขึ้น ผ่าน 4 ผลผลิตหลัก ด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ขณะที่ภาคเอกชนเสนอให้ 'รีดีไซน์-รีสตาร์ท'

ขับเคลื่อน 7 ยุทธศาสตร์

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ. 2560 - 2569) เน้น 4 ผลผลิตหลัก ได้แก่ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) เช่น บริการสปาเพื่อสุขภาพ บริการ Medical Spa บริการนวดไทยเพื่อสุขภาพ บริการแบบพำนักระยะยาวเพื่อสุขภาพ บริการแบบ Health Resort ,ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub)และศูนย์กลางยาและ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)

ทั้งนี้ 7 ยุทธศาสตร์การพัฒนา ประกอบด้วย 1.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการจัดบริการสุขภาพ 2.พัฒนาบริการรักษาพยาบาล 3.พัฒนาบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ 4.พัฒนาบริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 5.พัฒนาบริการวิชาการและงานวิจัยทางการแพทย์ (Academic Hub) 6.พัฒนายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และ7.ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์

จุดแข็งของไทย

ในส่วนของจุดแข็งของประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนสู่การ ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)ได้อย่างประสบความสำเร็จ สบส. 5 ด้าน คือ

1.ความพร้อมของสถานพยาบาลของไทยที่ผ่านคุณภาพในระดับสากลเจซีไอ (JCI) มากกว่า 50 แห่ง มากที่สุดในอาเซียน

2.เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ใช้เวลาในการรักษาสั้น หายเร็ว

3.ค่ารักษาพยาบาลราคาสมเหตุสมผล

4.บุคลากรมีความเชี่ยวชาญในแต่สาขาสูง ทั้งการรักษาพยาบาลและเสริมความงาม

5.มีไทยเนส หรือเสน่ห์ของความเป็นไทย มีจิตใจรักษาในบริการ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของไทยที่มีมาตรฐาน

แนวโน้มโตกว่าก่อนโควิด 19

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า ปี 2563 และ 2564 ที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสบส. สำรวจข้อมูลจากสถานพยาบาล 30 แห่ง พบว่า ปี 2564 รายรับค่ารักษาพยาบาลจากชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพื่อรักษาพยาบาลประมาณ 11,903 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2563 ประมาณ 47%

ประเทศที่เข้ามารักษาพยาบาลมากที่สุด 5 อันดับ คือ คูเวต กัมพูชา เมียนมา ญี่ปุ่น และจีน ส่วน 5 อันดับกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยเข้ามารักษามากสุด ได้แก่ การตรวจสุขภาพ กระดูกและข้อ ระบบหัวใจและหลอดเลือด เมตาบอลิก และทันตกรรม ตามลำดับ ส่วนกลุ่มโรคที่สร้างรายได้มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ หัวใจและหลอดเลือด เมตาบอลิก มะเร็ง กระดูกและข้อ และระบบประสาทวิทยา

หลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย ประเทศไทยได้ผ่อนคลายมาตรการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำรวจข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติ ระหว่างเดือนก.ค.– ส.ค.2565 พบว่า กิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ การรับประทานอาหารไทย 90.57% นวดและสปา 48.23% กิจกรรมชายทะเล 48.12% และท่องเที่ยวสถานที่ทางประวัติศาสตร์ 46.22% ส่วนการท่องเที่ยวพร้อมการตรวจสุขภาพ จัดอยู่ในลำดับที่ 16 สำหรับด้านค่าใช้จ่าย พบว่า กลุ่มที่ท่องเที่ยวพร้อมตรวจสุขภาพ มีการใช้จ่ายเฉลี่ย 35,074 บาท/คน/ทริป

หาคำตอบ Road Map to Thailand Medical Hub ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ กับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่จะมาเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในงาน มหกรรมการแสดงสินค้า และความรู้เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมั่งคั่ง ตอบสนองการใช้ชีวิตในแต่ละช่วงอายุ อย่างครบวงจร ในงาน Health & Wealth Expo 2023 ภายใต้แนวคิด The Journey of life จัดโดย เนชั่น กรุ๊ป ระหว่างวันที่ 9 – 12 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.00 – 20.00 น. ที่ Hall 5 – 6 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นอกจากนี้ภายในงานยังมีเวทีเสวนา 'เทรนด์สุขภาพ 2024' ,สมุนไพร โอกาสเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้ตั้งแต่ฐานราก , ป้องกัน-ค้นหา-ฟื้นฟู ครบทุกมิติเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม' รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจสุขภาพและการแพทย์

นทพร บุญบุบผา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า รูปแบบการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวมาประเทศไทยแตกต่างไปจากเดิม ส่วนใหญ่เข้ามาเพราะอยากฟื้นฟู ดูแลสุขภาพ ดังนั้น การนำเรื่องจุดแข็งของประเทศไทย อย่าง สกินแคร์ Glass Skin ที่ทางเอ็มพี กรุ๊ป ผลิตขึ้นมาผสมผสานกับ Wellness Tourism เป็นการนำเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาช่วยเพิ่มมูลค่าของการท่องเที่ยวให้สูงขึ้นได้ และเป็นส่วนเติมเต็ม Health Ecosystem ของไทยตอบโจทย์การดูแลสุขภาพของทุกคน

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1096083