Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

NEWS

    

จากดินสู่มูลค่าเพิ่ม นวัตกรรมอาหารจากพืชแห่งอนาคต

“อาหารแห่งอนาคต"

อาหารแห่งอนาคตที่จะช่วยโลกไม่ให้ร้อนและช่วยเราให้อิ่มท้อง ทางเลือกใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากมีความสุขกับการกิน ควบคู่ไปกับสุขภาพที่ดี และไม่รู้สึกผิดกับโลก ธุรกิจใหม่ที่พลิกบทบาทของ “พืช” จากผักที่ปลูกบนดิน มาสู่ผักที่ปลูกในน้ำในระบบปิด Plant Factory ที่เพิ่มมูลค่าต่อยอดสู่การทำ Plant-based

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อศึกษาและเรียนรู้เทคโนโลยีนวัตกรรมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สำหรับเป็นกลไกผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ

S-curves คือคำตอบ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับพายุลูกใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็น GDP ไตรมาส 2 ที่ขยายตัวเพียง 1.8% ขณะที่มูลค่าการส่งออก 8 เดือนแรกปี 2566 หดตัว 4.5% หรือจะผลกระทบจากเอลนีโญและปัญหาอุทกภัย

รวมไปถึงเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังคุกรุ่นไปทั่วโลก ซึ่งความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้ ส.อ.ท.ก็ได้ เตรียมพร้อมรับมือผ่านแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง

โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมดั้งเดิมควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ (S-curves) ด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมผ่านเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล

ทั้งยังส่งเสริมการส่งออก การค้า และสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรม S-curves ตลอดจนเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับสินค้า made in thailand (MiT)

“อาหารจากพืช"

Plant Factory สะอาด 100%

“ผักสะอาดไร้สารปนเปื้อน” เป็นอีกโจทย์สำคัญที่ ส.อ.ท.ตั้งให้แก่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่ต้องการส่งออกผักไปยังยุโรป หลังประสบปัญหาเรื่องสารปนเปื้อนเมื่อปี 2553 จนสหภาพยุโรปต้องออกกฎระเบียบระงับการนำเข้าผักสดจากไทย หลังพบสินค้าผัก ผลไม้ และไม้ดอกที่นำเข้าจากประเทศไทยมีสารตกค้างและปนเปื้อนถึง 716 ครั้ง

สวทช.จึงได้นำเทคโนโลยีหลายสาขามาประยุกต์ เพื่อพลิกโฉมการปลูกพืชแบบเดิมที่ขึ้นกับดินฟ้าอากาศและอาจมีการปนเปื้อนมาสู่ “Plant Factory” หรือ “โรงงานผลิตพืช” ซึ่งเป็นการปลูกพืชระบบปิดที่สามารถปลูกได้ทั้งปีและมั่นใจได้แน่นอนว่าไร้สารตกค้าง

ดร.เกรียงไกร โมสาลียานนท์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาและชีวเคมีด้านพืช ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) กล่าวว่า Plant Factory เป็นการปลูกพืชในระบบปิดที่ต้องควบคุมสภาพแวดล้อม อาทิ แสง อุณหภูมิ ความชื้น ธาตุอาหาร ความเร็วลม และคาร์บอนไดออกไซด์

ซึ่งพอควบคุมปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ได้ ผลที่ตามมาคือ พืชโตเร็ว สะอาด เพราะไม่มีสิ่งปนเปื้อนที่มากับดิน รวมถึงธาตุอาหารเยอะ เพราะสามารถเพิ่มสารอาหารได้มาก ทำให้ได้ผลผลิตมากกว่าการปลูกตามธรรมชาติ

“ดร.เกรียงไกร

“สิ่งที่สำคัญของ Plant Factory ก็คือการเลือกสีและความยาวคลื่นแสงตามความเหมาะสมของชนิดพืชและระยะการเจริญเติบโต ซึ่งช่วยให้เราได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามความต้องการได้ ผ่านเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชด้วยแสงไฟเทียม (Plant Factories with Artificial Lighting : PFALs) ที่แสดงให้เห็นว่า แสงแต่ละสีมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช อย่างแสงสีเขียวจะกระตุ้นการงอกของกะเพราได้ดีที่สุด”

ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พืชสมุนไพรพื้นบ้าน อาทิ ฟ้าทะลายโจร กะเพรา และใบบัวบก ที่ปลูกแบบไฮโดรโปรนิกส์ ซึ่งเป็นการปลูกพืชผ่านน้ำแทนการใช้ดิน ประกอบกับการใช้ระบบปิดช่วยแก้ปัญหาเรื่องโลหะหนักที่ปนเปื้อนมาในดินและน้ำ

รวมถึงในอนาคตเตรียมเพาะพันธุ์ผักเคล ซึ่งถือเป็น superfoods ที่อุดมไปด้วยสารอาหารและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งการปลูกในระบบปิดแบบนี้ จะช่วยเร่งการเติบโตของพืชได้ประมาณ 30% อย่างฟ้าทะลายโจรที่จากเดิมใช้ระยะเวลา 3-5 เดือนในการปลูก ก็ลดลงเหลือ 75-80 วัน และสามารถปลูกได้มากกว่า 10 รอบต่อปี

ปตท. เจาะธุรกิจ Plant-based

นอกจากผักสะอาดปลอดสารพิษแล้ว ยังมี Plant-based หรือ “ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช” ซี่งเป็นอาหารแห่งอนาคตที่ตอบโจทย์คนกินมังสวิรัติ หรือวีแกน (vegan) รวมถึงยังตอบโจทย์ธุรกิจ เพราะตลาดมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยเว็บไซต์ verified market research ระบุว่า ตลาด Plant-based ในปี 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 9.1 พันล้านเหรียญ และคาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็น 20.8 พันล้านเหรียญในปี 2573 แสดงให้เห็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10.7% จากปี 2566 ถึง 2573 ทำให้เป็นเหตุผลที่หลายบริษัทเริ่มหันมาสนใจธุรกิจนี้ แม้แต่บริษัทด้านพลังงานอย่าง ปตท.

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจใหม่ของ ปตท.ที่เกี่ยวกับอาหารแห่งอนาคต ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องผ่าน บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด รวมถึงยังมีการลงทุน Plant-based ร่วมกับทางบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด

“ดร.บุรณิน

ซึ่งขณะนี้โรงงานสำหรับผลิต Plant-based กำลังอยู่ในขั้นตอนการว่าจ้างผู้รับเหมา ขณะที่การขอยื่นรับใบอนุญาตและการจดมาตรฐานสำหรับการผลิตก็ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ตามแผนคาดว่าโรงงานนี้จะเริ่มผลิตได้ประมาณไตรมาส 4 ของปี 2566 ซึ่งจะทำให้โรงงานแห่งนี้กลายเป็นโรงงานแห่งแรกที่ได้รับมาตรฐานด้านการผลิต Plant-based

โดยจะมีกำลังผลิต 3,000 ตันต่อปี เพื่อรองรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากว่าตลาดในประเทศทุกวันนี้ยังไม่ใหญ่เมื่อเทียบขนาดกับตลาดต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับโปรตีนทางเลือกและอาหารออร์แกนิกค่อนข้างมาก

“โรงงานของเราจะเป็นฐานการผลิตวัตถุดิบ Plant-based มากกว่าทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมกิน กล่าวคือมีหน้าที่แปรรูปพืชให้กลายมาเป็นเนื้อสัตว์ในรูปแบบต่าง ๆ แล้วหลังจากนั้นจะนำวัตถุดิบส่วนนี้ไปให้กับบริษัทด้านอาหารดำเนินการต่อ”

การที่เราเลือกจะทำแต่วัตถุดิบแล้วส่งไปให้ SMEs ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านอาหาร ตรงนี้ก็สามารถช่วยให้เขาสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เพราะปัจจุบันรูปแบบการกินอาหารไม่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบเยอะ ๆ แล้ว บางทีขายเป็นชิ้น ขายเป็นคำ แต่มี story ที่ดีก็ขายได้ แล้วผมว่าสิ่งนี้คือสิ่งหนึ่งที่ ปตท.ต้องพยายามทำ

“เพราะวันนี้ ถ้าเราพูดถึงยุโรป เขาให้ความสำคัญเรื่องพวกนี้มาก ทำให้โรงงานของเราก็ต้องทำ Plant-based ให้เป็นมากกว่าแค่เฉพาะอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ว่าต้องใส่ soft power หรือก็คือ story ลงไปด้วย ซึ่งเป็นโจทย์ที่บริษัทร่วมทุนระหว่างโนฟกับอินโนบิกต้องพัฒนาเรื่องนี้ขึ้นมา”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/economy/news-1431694