Biotech Thailand is a biomedical & biotechnology directory providing a list of organisations, products & services in the biotech industry.

NEWS

    

"ไวรัสตับอักเสบบี" ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

“ไวรัสตับอักเสบบี"

“โรคไวรัสตับอักเสบ บีและซี” นับเป็นภัยเงียบของทุกภูมิภาคทั่วโลก องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ณ ปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกประมาณ 325 ล้านคน ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี ซึ่งสถานการณ์ไวรัสตับอักเสบในประเทศไทยยังคงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง

โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรัง ประมาณ 2.2 ล้านคน ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรัง ประมาณ 3 - 8 แสนคน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญนำไปสู่ภาวะตับแข็งและมะเร็งตับ ที่พบมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ

4 ภาคีภาครัฐ ประกอบด้วย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ร่วมลงนามความร่วมมือ“พัฒนาการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ”เพื่อสนับสนุนและพัฒนาการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ และสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศไทย

ฉีดวัคซีน ป้องกันไวรัสตับอักเสบบีดีที่สุด

“ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ”หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าสถานการณ์ไวรัสตับอักเสบในประเทศไทยนั้น เมื่อก่อนจะพบผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบอย่างชุกชุม ซึ่งเห็นได้จากประชากรไทยในอดีตที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับ โดยเฉพาะผู้ชายจำนวนมาก และหากรวมผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับตับ เช่น ตับแข็ง จะพบอัตราส่วนของผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบมากขึ้น เนื่องจากโรคมะเร็งตับ ตับแข็ง ล้วนเกิดจากโรคไวรัสตับอักเสบทั้งสิ้น

“ศ.นพ.ยง"

“ปัจจุบันมาตรการในการป้องกันไวรัสตับอักเสบที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งจากการศึกษาวิจัยเรื่องไวรัสตับอักเสบบี และการฉีดวัคซีน พบว่า ปัจจัยที่ทำให้มีผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีจำนวนมาก เกิดจากการถ่ายทอดไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก หากแม่ติดไวรัสตับอักเสบบี ลูกจะมีโอกาสติดจากแม่ถึงร้อยละ 50 ฉะนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบตั้งแต่แรกเกิด”

ปัญหาของไวรัสตับอักเสบ บี ส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี หรือผู้ที่เกิดก่อนการให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข นโยบายลดการถ่ายทอดไวรัสตับอักเสบ บี จากมารดาสู่ทารกให้เป็นศูนย์ จึงนับว่าประสบความสำเร็จ โดยสิ่งที่จะมาอธิบายความสำเร็จดังกล่าวได้อย่างชัดเจน คือข้อมูลที่บ่งชี้การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ในเด็กต่ำกว่า 5 ปี ที่จะต้องน้อยกว่า 0.1%

มั่นใจไวรัสตับอักเสบหมดไปในไทยได้

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมาตรการในการป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี โดยการฉีดวัคซีน และรณรงค์ให้มีการตรวจคัดกรองตั้งแต่ปี 2531 เริ่มที่จังหวัดชลบุรี และเชียงใหม่ ต่อมาในปี 2535 ก็ได้ขยายไปทั่วประเทศ ทำให้ขณะนี้ไวรัสตับอักเสบบีมีผู้ป่วยลดน้อยลง โดยเฉพาะในผู้ที่เกิดหลังปี 2535 เนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนป้องกันตั้งแต่แรกเกิดแล้ว

สำหรับผู้ที่เกิดก่อนปี 2535 เมื่อก่อนจะมีปัญหาเรื่องโรคนี้ แต่ขณะนี้มีการให้ตรวจคัดกรอง และมียาที่สามารถรักษาได้ รวมถึงมีวัคซีนที่ป้องกันได้ จึงเป็นที่มาขององค์การอนามัยโลกในการขจัดไวรัสตับอักเสบให้หมดไปจากโรคนี้ ส่วนไวรัสตับอักเสบซี แม้จะไม่มีวัคซีน แต่มียารักษาให้หายขาดได้ เพียง 3 เดือน และโอกาสหายขาดได้ถึงร้อยละ 97.5

“ประชากรไทยทุกคนควรจะได้รับการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี และถ้ามีการติดเชื้อ จะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา ทั้งนี้ไวรัสตับอักเสบ ซี สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไวรัสตับอักเสบบี สามารถรักษาเพื่อไม่ให้เกิดการดำเนินของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ รวมทั้งสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคตับที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบได้อย่างน้อยร้อยละ 65 ภายในปี 2573 ในการนี้ข้อมูลเชิงประจักษ์จากการศึกษาวิจัยข้อมูลพื้นฐานโดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบในประชากรไทย เพื่อวางแผนและดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2573 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างยิ่ง” ศ.นพ.ยง กล่าว

เลิกพฤติกรรมเสี่ยง ป้องกันโรค

“ศ.นพ.ยง” กล่าวต่อไปว่า ประชากรไทยทุกคนควรได้รับการคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี และหากใครเป็นโรคควรได้รับการรักษา ถ้าทำได้เราจะพบผู้ป่วย จะต้องทำให้แล้วเสร็จในปี 2573 ซึ่งโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ สวรส. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในการศึกษาวิจัยด้านการประเมินผลกระทบการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี ในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติ ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ อยุธยา ตรัง อุตรดิตถ์ เพื่อศึกษาอัตราการติดเชื้อ การเป็นพาหะ และระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคตับอักเสบ

“พฤติกรรมที่สำคัญที่ทำให้มีโอกาสติดไวรัสตับอักเสบ ไ คือ การติดต่อโรคไวรัสตับอักเสบ และ HIV มีความคล้ายกัน นั่นคือ ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ จากแม่สู่ลูก การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และจากเลือด ดังนั้น หากทุกคนเลิกพฤติกรรมเสี่ยงก็จะสามารถป้องกันโรคดังกล่าวได้ และหากยังไม่มีภูมิต้านทานขอให้ไปฉีดวัคซีน ส่วนที่หลายคนมองว่าติดจากน้ำลายนั้น ทางการแพทย์โรคไวรัสตับอักเสบ ติดทางน้ำลายได้น้อยมากๆ เพราะส่วนใหญ่จะติดทางเลือด หรือสารคัดหลั่งมากกว่า อยากให้ทุกหน่วยงานช่วยกันค้น ช่วยกันรักษา ซึ่งหากทุกคนช่วยกัน ไวรัสตับอักเสบบีและซีหายไปจากประเทศไทยได้แน่นอน” ศ.นพ.ยง กล่าว

“MOU"

MOU วิชาการ วิจัย ยกระดับสุขภาพคนไทย

ทั้งนี้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า สวรส. ในฐานะองค์กรด้านการวิจัยระบบสุขภาพที่มุ่งเน้นการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนและพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของประเทศ เล็งเห็นว่าการทบทวนและพัฒนาแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป โดยการศึกษาวิจัยมีความสำคัญ ซึ่งข้อมูลทางวิชาการจะเข้ามาช่วยอธิบายถึงสถานการณ์ของโรค ตลอดจนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนานโยบายและการดำเนินงานเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโรค ตลอดจนเกิดความคุ้มค่าในการลงทุนด้านงบประมาณกับการดำเนินงานเรื่องดังกล่าว

ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการดำเนินงานดูแล รักษา และป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย ซึ่งการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ จะสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศไทย และสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนทุกคนต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ส่งเสริมและผลิตอาหารที่จะทำให้คนมีสุขภาพและพลานามัยที่แข็งแรงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ สอดคล้องกับการทำให้คนไทยมีสุขภาพดี และปลอดภัยจากโรคที่มาจากไวรัสตับอักเสบได้

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1124719